รมว.คลังปฎิเสธข่าวลดทุน TPI ขณะ"ประชัย"ร้องกลต.เอาผิดอาญามือปล่อยข่าวทุบหุ้น

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2004 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--โอเอซิส มีเดีย
เผยรมว.คลังปฏิเสธข่าวลดทุน TPI ขณะที่ "ประชัย"ออกโรงแฉมือดีปล่อยข่าวทุบหุ้นสร้างความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นอย่างหนัก พร้อมเตรียมร้องกลต.เอาผิดทางอาญาแล้ว
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวที่จะมีการลดทุนทีพีไอ ว่า ในวันนี้ (23 ม.ค.2547) ตนได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวกับ นายสุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งรมว.คลัง ได้ยืนยันว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการลดทุนจดทะเบียนดังกล่าว แต่ในข้อเท็จจริงพบว่า คนที่ออกมาปล่อยข่าวคือนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตประธานกรรมการบริหารของโรงเหล็กเล่าเป้งง้วน และในอดีตคนนี้มีพฤติกรรมที่ไม่สุจริต ถึงขั้นเจ้าของโรงงานเหล็กเล่าเป้งง้วนให้ออกจากงาน และตกงานอยู่เป็นเวลานาน ต่อมาได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของนายพละ สุขเวช ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูหรือ 5 อรหันต์ที่เข้ามาบริหารงานในทีพีไอ
ที่สำคัญ นายศิริ ได้ตั้งบริษัท ซินเนอยี่ โซลูชั่น จำกัด มาดูดเงินทีพีไอ จำนวน 20 ล้านบาทต่อเดือน และยังทำลายผลประโยชน์ของทีพีไอ โดยการสั่งระงับซื้อน้ำมันดิบ เพื่อไม่ให้โรงกลั่นน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิต นอกจากนี้การออกมาปล่อยข่าวทุบหุ้นทีพีไอของนายศิริ ถือว่ามีเจตนาทุจริต เพราะราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สูงสุด 22 บาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 11 บาทต่อหุ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นและทีพีไออย่างมหาศาล ที่สำคัญที่สุด การกระทำดังกล่าว มีเจตนาที่จะทำลายแผนฟื้นฟูทีพีไอที่ตน(นายประชัย)ได้เสนอไปยังเจ้าหนี้ให้แปลงหนี้เป็นทุนในราคา 20 บาทต่อหุ้น
นายประชัย กล่าวต่อว่า ในข้อเท็จจริง ทีพีไอ ไม่จำเป็นต้องลดทุนจดทะเบียน เพราะผลประกอบการ ดีขึ้นมาก เห็นได้จากในเดือนธันวาคม 2546 มีตัวเลข EBITDA 1,150 ล้านบาท และคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2547 จะมี EBITDA 1,300 ล้านบาท หรือ รวมทั้งปีจะมี EBITDAประมาณ 17,000 ล้านบาท ซึ่งทีพีไอไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินใด ๆ นอกจากนี้ ทีพีไอ ยังมีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ที่สามารถกลั่นน้ำมันได้ถึง 200,000 บาร์เรลต่อวัน แต่นายศิริ กลับมีคำสั่งระงับการซื้อน้ำมันดิบ เพื่อมีเจตนาให้ทีพีไอ ไม่มีกำไร และไม่มีเงินไปชำระหนี้ และในที่สุดก็จะทำการลดทุนจดทะเบียนของทีพีไอ แต่ในข้อเท็จจริงแผนการลดทุนทีพีไอ คาดว่าคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกัน มีแต่เจ้าหนี้ที่มีประกันจะให้การสนับสนุน เพราะจะได้เงินชำระหนี้ และเจ้าหนี้ที่มีประกันจะได้รับการชดเชยการชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันส่วนตัว ซึ่งถือว่าเป็นแผนที่ไม่สุจริต
"ขณะนี้นายศิริ ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร โดยจะนำเงินจำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้ามาซื้อทีพีไอ ซึ่งถือว่าเป็นแผนที่ไม่สุจริต โดยเฉพาะการนำเงินมาเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามาซื้อกิจการทีพีไอที่มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ตนเองจะร้องเรียนไปยังเลขาธิการกลต.ให้ตรวจสอบในเรื่องนี้ และตรวจสอบพฤติกรรมการการปล่อยข่าวทุบราคาหุ้นของนายศิริ ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารที่ 27 มกราคม 2547 นี้ ตนจะเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง"--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ