บอร์ดบีโอไออนุมัติ 2 โครงการใหญ่รับปี 48 รวมมูลค่ากว่า 2.4 พันล้านบาท

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2004 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--บีโอไอ
- กิจการขนส่งทางอากาศ
- กิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม
- มูลค่าเงินลงทุน 2,484 ล้านบาท
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุม บอร์ดบีโอไอว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 2 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,484 ล้านบาท ดังนี้
- กิจการขนส่งทางอากาศ ของบริษัท แอร์เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด โดยให้บริการขนส่งทางอากาศ แบบประจำมีกำหนดภายในประเทศ และระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเป็นครั้งคราว ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,120 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 279 คน ซึ่งโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ประกอบกิจการ
โครงการนี้เป็นการให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำโดยมีรูปแบบและลักษณะการดำเนินการ คือ ไม่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน มีระยะทางการบินสั้นใช้เวลาในการบินไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อเที่ยว และเป็นการบินตรงเมืองต่อเมือง และไม่ต้องต่อเครื่องไปยังจุดหมาย สำหรับเส้นทางการให้บริการนั้น จะให้บริการเส้นทางในประเทศโดยเริ่มให้บริการต้นปี 2547 ส่วนเส้นทางบินต่างประเทศจะให้บริการ กลางปี 2547
ทั้งนี้การให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือ เป็นการขยายตลาดการบินในประเทศ ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้รวดเร็ว และราคาประหยัด และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศเนื่องจากนักธุรกิจรายย่อยในท้องถิ่นต่าง ๆ มีโอกาสได้เดินทางอย่างรวดเร็วและปลอดภัย ในราคาประหยัด
- กิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ของบริษัท โกลว์ เอสพีพี จำกัด ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม มีกำลังผลิตไฟฟ้า 38.5 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมง น้ำเพื่ออุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ 80 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และน้ำสะอาด 300 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง จะลงทุนทั้งสิ้น 1,364 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศ 520.8 ล้านบาท/ปี ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เขต 2 ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร
โครงการที่ยื่นขอขยายนี้จะใช้ระบบในการผลิตเหมือนโครงการเดิม คือ ระบบ Cogeneration ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และนำไอเสียที่ได้ไปผลิตไอน้ำ โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ลูกค้าบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง ภายใต้สัมปทานการประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้ยื่นขอขยายกำลังการผลิตอีก 38.5 เมกะวัตต์ต่อกรมธุรกิจพลังงานแล้ว โดยกลุ่มลูกค้า คือ โรงงานปิโตรเคมี ได้แก่ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกระทรวงอุตสาหกรรม
MARKETING DIVISION THE BOARD OF INVESTMENTMINISTRY OF INDUSTRY
555 ถ.วิภาวดีรังสิต จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 0 2537- 8111 , 0 2537- 8155
โทรสาร : 0 2537-8177--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ