ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวทั่วไป Friday November 18, 2011 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ประจำไตรมาสที่ 4/2554 และ 1/2555 ใช้ช่วงเวลาในการจัดเก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ถึง วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยภาพรวมของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัยในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554) ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจปรับตัวในทิศทางที่ลดลงทุกองค์ประกอบเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักภายในประเทศ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมของไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีทิศทางที่แย่ลง ซึ่งองค์ประกอบทุกตัวปรับลดลงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าด้านกำไรและด้านยอดขายลดลง เนื่องจากยอดการสั่งซื้อและการจองห้องพักลดลง และมีการยกเลิกการจองห้องพักในกลุ่มของธุรกิจที่พักแรมจำนวนมาก และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเดินเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน การลงทุน และการใช้กำลังการผลิต ลดลงอยู่ที่ระดับ 47.8, 48.8 และ 48.6 ตามลำดับ ซึ่งปรับตัวลดลงตามการคาดการณ์ของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะมียอดขายลดลง ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจยังคงปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 92.5 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางด้านวัตถุดิบ พลังงาน ราคาน้ำมัน และค่าขนส่ง มีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งจากปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยทำให้ระบบการเดินทางและการขนส่งไม่สะดวกทำให้สินค้าบางประเภทขาดตลาดส่งผลให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการบางรายยังประสบปัญหาจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดเชียงใหม่ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไร ยอดขาย และการจ้างงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าต้นปีพ.ศ. 2555 องค์ประกอบด้านกำไร ยอดขาย และการจ้างงาน อยู่ในระดับที่ไม่ดี ด้านการลงทุนอยู่ในระดับคงที่ คือ 50.4 และด้านการใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 57.3 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการว่าความต้องการของผู้บริโภคจะมีเพิ่มมากกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีเล็กน้อย ตามการคาดการณ์ด้านยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีจากระดับ 31.0 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 ในส่วนของดัชนีด้านต้นทุนธุรกิจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.6 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนธุรกิจอยู่ในระดับที่สูงมาก สำหรับการสำรวจผลกระทบจากภาวะอุทกภัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 90.25 และผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ร้อยละ 9.75 และผลกระทบต่อมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) ยอดขาย ยอดผู้มาใช้บริการ ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง และมีการถูกยกเลิกการจองห้องพัก รวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ร้อยละ 34.63 (2) ขาดแคลนวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตและซ่อมบำรุง และสินค้าสำหรับจำหน่าย ร้อยละ 28.81 และ (3) ระบบการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบล่าช้า ทั้งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า และสินค้าสำเร็จรูปส่งออก ร้อยละ 19.39 ผลการสำรวจความคิดเห็นแยกตามประเภทหมวดธุรกิจ 1. การผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรด้านยอดขาย ด้านการลงทุน และด้านการใช้กำลัง การผลิตปรับตัวในทิศทางที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 27.6, 27.6, 47.4 และ 44.7 ตามลำดับ ผู้ประกอบการเชื่อว่ากำไรและยอดขายลดลง เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักลดลง ส่งผลให้การลงทุนและการใช้กำลังการผลิตปรับลดลงตามไปด้วย ในส่วนของค่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึงแม้จะปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทั้งค่าน้ำมัน ค่าวัตถุดิบในการผลิต และค่าแรงงานมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 องค์ประกอบทุกตัวปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบในช่วงต้นปี พ.ศ. 2555ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 96.1 2. การผลิตหัตถกรรมจากไม้ ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ในกลุ่มผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมไม้ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 28.4 เท่ากัน ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่ากำไรและยอดขายลดลง เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน การลงทุน และการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนในส่วนของต้นทุนธุรกิจค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 87.8 พิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าด้านกำไรและยอดขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอยู่ที่ระดับ 67.6 สำหรับด้านการจ้างงานและการลงทุนปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 46.6 และ 45.9 ตามลำดับ ด้านต้นทุนธุรกิจปรับตัวอยู่ที่ระดับสูงสุด 100.0 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น 3. การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 26.9 เท่ากัน แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะแย่ลงเนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้ระบบการขนส่งไม่สะดวกการกระจายสินค้าจึงทำได้ยาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน การลงทุน และการใช้กำลังการผลิตปรับตัวในทิศทางที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 45.4, 46.9 และ 46.9 ตามลำดับ ส่วนดัชนีด้านต้นทุนธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 80.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าวัตถุดิบซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูง อีกทั้งปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ปัญหาอุทกภัย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าด้านกำไรและยอดขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้การลงทุนและการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอยู่ที่ระดับ 51.5 และ 70.0 ตามลำดับ ในส่วนด้านต้นทุนธุรกิจ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.8 4. การบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 30.8 เท่ากันส่งผลให้ ดัชนีด้านการจ้างงาน การลงทุนและการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงตามไปด้วยอยู่ที่ระดับ 44.2, 48.3 และ 48.3 ตามลำดับ จากองค์ประกอบทุกตัวที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในด้านดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ดี ในส่วนของดัชนีด้านต้นทุนธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 96.7 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงและค่าแรงขั้นต่ำที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าด้านกำไร ด้านยอดขาย และด้านการจ้างงาน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในช่วงต้นปีหน้าอยู่ในระดับที่ไม่ดี อีกทั้งในส่วนของต้นทุนธุรกิจคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกอยู่ที่ระดับ 98.3 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้สินค้าบางประเภท ขาดตลาดและมีราคาแพงขึ้น 5. การบริการอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 41.5 เท่ากัน ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่ากำไรและยอดขายลดลง เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลลอยกระทง งานมหกรรมพืชสวนโลก ลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน การลงทุน และการใช้กำลังการผลิตปรับตัวในทิศทางที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.5, 49.5 และ 50.0 ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 100.0 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ต้นทุนธุรกิจใน ทุก ๆ ด้าน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ผักสดต่าง ๆ ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 ผู้ประกอบการคาดการว่าด้านกำไรและด้านยอดขายจะปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.0 เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการใช้กำลัง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอยู่ที่ระดับ 55.0 และ 59.5 ตามลำดับ ในส่วนของด้านต้นทุนธุรกิจค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูง คือ 99.5 6. การบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 4/2554 (สำรวจช่วงเกิดอุทกภัย) ของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นก่อนเกิดภาวะอุทกภัยหนักในประเทศไทย อยู่ที่ระดับ 25.5 เท่ากัน ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่ากำไรและยอดขายลดลง เนื่องจากปัญหาอุทกภัยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง อีกทั้งผู้ประกอบการหลายรายถูกยกเลิกการจองห้องพัก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน การลงทุน และการใช้กำลังการผลิตปรับตัวในทิศทางที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.0, 49.5 และ 49.5 ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 99.5 ค่าดัชนีด้านต้นทุนธุรกิจยังคงอยู่ในระดับที่สูง พิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการยังประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2555 ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าด้านกำไร และด้านยอดขาย ปรับตัวในทิศทางที่ลดลง อยู่ที่ระดับ 13.5 เท่ากัน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 อยู่ในระดับที่ไม่ดี ส่งผลให้การจ้างงานและการใช้กำลังการผลิตปรับตัวลดลงตามอยู่ที่ระดับ 20.0 และ 47.5 ตามลำดับ อีกทั้งในส่วนของต้นทุนธุรกิจค่าดัชนียังอยู่ในระดับสูง 99.5 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในจังหวัดเชียงใหม่ ประจำไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2554 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับมากได้แก่ ผลกระทบจากราคาต้นทุนสินค้าและผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับปานกลางได้แก่ ผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ผลกระทบจากค่าแรงงาน และผลกระทบจากการแข่งขันในตลาด ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับน้อยได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับน้อยที่สุดได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2555 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับมากได้แก่ ผลกระทบจากราคาต้นทุนสินค้า ผลกระทบจากค่าแรงงาน และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับปานกลางได้แก่ ผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่งและผลกระทบจากการแข่งขันในตลาด ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับน้อยได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับน้อยที่สุดได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ