ว.เทคโนโลยีสยาม ‘อุดมศึกษา’ ผลิตเรือต้นแบบ เติมจุลินทรีย์ EM เพิ่มออกซิเจน บำบัดน้ำเสียในชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday November 18, 2011 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมผ่านพ้นไป สิ่งที่ตามมา คือ การเร่งฟื้นฟูปรับสภาพความสมดุลน้ำที่เน่าเสียจากการท่วมขังมาเป็นเวลานาน โดยการทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียนหรือมีการปนเปื้อนจากมลพิษในปริมาณน้อยลง จนสามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ปัจจุบันมีวิธีการบำบัดน้ำเสียหลายวิธี วิธีง่าย ๆ วิธีหนึ่งที่สามารถฟื้นฟูคุณภาพน้ำได้อย่างง่าย คือ การผลิตลูกบอลจุลินทรีย์เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ โดยการอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในการค้นหาจุลินทรีย์ในท้องถิ่นมาหมักเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ลูกบอลจุลินทรีย์ (EM Ball) จะมีลักษณะเป็นก้อนดินที่ทำมาจากการผสมน้ำหมักจุลินทรีย์กับอาหารจุลินทรีย์ แล้วปั้นเป็นก้อนเท่าลูกปิงปองหรือลูกเปตอง แล้วนำไปผึ่งลมทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จึงจะสามารถนำไปใช้หรือเก็บไว้ใช้ได้นานถึงหนึ่งปี อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยว่า ตามที่สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการผลิตลูกบอลจุลินทรีย์ (EM Bar-Ball) เพื่อช่วยฟื้นฟูบำบัดน้ำเน่าเสียให้แก่ผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม โดยได้ดำเนินการส่งมอบให้กับสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เพื่อส่งต่อไปยังประชาชนที่ต้องการนำไปใช้ ล่าสุดคณาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) ได้ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบเติม EM และเพิ่มออกซิเจนในการบำบัดน้ำเสีย จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ การออกแบบใช้หลักของท่อเวนจูรี่ (Venturi tube) ติดกับ Submerged Pump ติดตั้งในเรือที่สามารถเติม EM และออกซิเจนในระดับความลึกของน้ำเสียตามต้องการ เครื่องที่ติดตั้ง กังหันน้ำ ตามรูปแบบคล้ายกังหันน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อตีน้ำให้เกิดฟองและให้น้ำเสียได้สัมผัสกับออกซิเจนในอากาศในระดับผิวน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าการละลายของออกซิเจน ในน้ำให้มากขึ้น ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของ EM สูงขึ้น การทำงานของเครื่องต้นแบบเติม EM ปั้มจะดูดพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์ (EM) ผสมกับอากาศ ฉีดลงไปในบริเวณ แหล่งน้ำเสียที่ท่วมขัง ซึ่งน้ำหมักจุลินทรีย์ (EM) มีประสิทธิภาพในการย่อยสบายสารอินทรีย์ ที่เน่าเปื่อยที่เป็นต้นเหตุของน้ำเสีย ทำให้เน่าและส่งกลิ่นเหม็นให้หมดไป ส่วนออกซิเจนจากอากาศ จะสามารถละลายในน้ำได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen-DO) ให้กับแหล่งน้ำเสียน้ำ น้ำก็จะมีคุณภาพดีขึ้น (โดยปกติน้ำที่มีคุณภาพดีควรมีค่าการละลายของออกซิเจนในน้ำ เท่ากับหรือมากกว่า 2 mg/l) อนึ่ง ประโยชน์จากของสารจุลินทรีย์ (EM) นอกจากจะช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะที่เน่าเสียหรือหมักหมมมานานได้ ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูบำบัดน้ำเน่าเสียจากอาคารบ้านเรือน โรงงาน โรงแรมหรือแหล่งน้ำเสีย ภายใน 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งช่วยปรับสภาพเศษอาหารจากครัวเรือน ให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อพืชผักได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ