พิธีแถลงข่าวการประชุมวิชาการโลกด้านบรรพชีวินวิทยาและลำดับชั้นหิน 2011 & ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งแรกในไทย...ที่สุดในโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday November 23, 2011 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พร้อมองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ อีกมากกว่า 10 องค์กร ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการโลกด้านบรรพชีวินวิทยา และลำดับชั้นหิน 2011 และงานฟอสซิลเฟสติวัลขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิม พระเกียรติในวโรกาสดังกล่าว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธาน พิธีเปิดงานในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานดังกล่าว จึงได้มีการจัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เป็นผู้ให้ รายละเอียดในการจัดงานการจัดประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากจังหวัดนครราชสีมา พบฟอสซิลไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก และโดดเด่นในด้านความ หลากหลายชนิด อายุและสีสัน ขณะเดียวกันยังได้พบฟอสซิล ช้างดึกดำบรรพ์สกุลต่างๆ ตามแหล่งบ่อดูดทรายในอำเภอเฉลิม พระเกียรติ เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก คือ พบถึง 8 สกุลจาก 43 สกุลที่พบทั่วโลกและยังเป็นแหล่งที่พบชิ้นส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์อายุ 100 ล้านปี จำนวนหลายพันชิ้น ความโดดเด่นของฟอสซิลในจังหวัดนครราชสีมา ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อรวมกับแนวความคิดอนุรักษ์ ทำให้เป็นที่สนพระทัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนักวิจัยเป็นอย่างมาก ด้วยการเป็นสถาบันที่ศึกษาวิจัยและให้บริการทางวิชาการด้านฟอสซิลแห่งหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้น สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จึงได้พยายามนำเสนอศักยภาพของท้องถิ่นสู่สากล ทั้งเรื่องไม้กลายเป็นหินและฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ที่เป็นรากเหง้าของช้างไทย ช้างเผือก คู่พระบารมี และเป็นสัตว์ประจำชาติไทย รวมทั้งไดโนเสาร์ และฟอสซิล อื่นๆ โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดประชุมวิชาการด้าน ฟอสซิลระดับโลกครั้งแรกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 33 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งสิ้น จำนวน 270 คน นอกเหนือจากงานประชุมวิชาการฟอสซิลที่โรงแรมสีมาธานีแล้ว ในการเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ยังมีการจัดงานฟอลซิลเฟสติวัล ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2554 โดยจัดเป็นงานมหกรรมการแสดงเกี่ยวกับฟอสซิลครั้งแรกของประเทศ ประกอบด้วยฟอสซิลเอ็กซ์โปที่แสดงฟอสซิลพืช-สัตว์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศหลายร้อยรายการ มีกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ของ อพวช. ตอนคืนชีวิต ให้กับซากสัตว์ ชมนิทรรศการฟอสซิล แพนด้าอีสาน เมื่อ 200,000 ปีก่อน สนุกกับการทำกิจกรรมฟอสซิลและท่องทะเลโบราณ 275 ล้านปีก่อน ในโซนพาลีโอพาร์ค กระทบไหล่นักไดโนเสาร์คนดังระดับโลกหลายคน ที่มาร่วมประชุมวิชาการ และชมนิทรรศการแสง สี เสียง ความเคลื่อนไหว ในพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์ และ สุดท้ายชม ชิม หรือซื้อสินค้าโอท็อปและอาหารเอกลักษณ์ของโคราช ภายในงานการจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยา ของนักวิจัยนักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงศักยภาพของโคราชในฐานะดินแดนมหัศจรรย์แห่งฟอสซิลเมืองสยาม และ ประชาสัมพันธ์เรื่องราวดังกล่าวสู่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรซากดึกดำบรรพ์ที่โดดเด่นของจังหวัดนครราชสีมานี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพด้านวิชาการบรรพชีวินวิทยา ของมหาวิทยาลัย และศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ทั้งในระดับชาติ อาเซียน และโลกต่อไป ติดต่อ: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (government) ติดต่อได้ที่: nrrupr@gmail.com โทร. o44-009009

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ