แรลลี่จักรยานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เกาะหมาก ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์และจำนวนขยะ

ข่าวท่องเที่ยว Thursday November 24, 2011 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--อพท. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดตราด ชมรมจักรยานจังหวัดตราด และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก จัดกิจกรรม แรลลี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกาะหมาก ระหว่างวันที่ ๑๘ — ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ณ ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด โดยมุ่งเน้นสร้างความสมดุลทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้น Low Carbon Tourism ภาพรวมการจัดงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีผู้สมัครเข้าแข่งขันแรลลี่จักรยานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น ๓๙ คน (ชาวไทย ๒๖ คน ชาวกัมพูชา ๓ คน และชาวยุโรป ๑๐ คน) ร่วมกันขี่จักรยานในระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ ๓.๓๗๕ กิโลกรัม/๓๙ คน ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ได้ ๑๓๑.๖๒ กิโลกรัม/๓๙ คน วันแรกของการจัดงาน วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. คณะผู้เข้าร่วมแข่งขันกิจกรรมแรลลี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกาะหมาก พร้อมคณะสื่อมวลชนจากจังหวัดตราดและจากกรุงเทพมหานคร ทำการลงทะเบียน ณ บริเวณท่าเทียบเรือกรมหลวงชุมพร จังหวัดตราด เพื่อตรวจเช็คสัมภาระและ ร่วมกิจกรรม การลงทะเบียนตรวจเช็คจำนวนขยะที่นำไปก่อนลงเรือ เพื่อให้ผู้ร่วมทริปที่นำวัสดุสิ่งของและเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ใช้แล้วทิ้ง ลงทะเบียนไว้ก่อนจะลงเรือ เวลาเดินทางกลับจะต้องนำขยะกลับมาจำนวนเท่าเดิมหรือมากกว่าที่ตนเองได้นำไป เพื่อช่วยกันลดจำนวนขยะบนเกาะหมาก ทั้งนี้ ระหว่างโดยสารเรือเพื่อเดินทางไปเกาะหมาก ทีมสันทนาการจากความร่วมมือหลายภาคส่วนงานและมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเกาะหมาก ให้การต้อนรับคณะแรลลี่ฯ พร้อมคณะสื่อมวลชนด้วยไมตรีจิต มีการละเล่นสนุก ๆ ตลอดการโดยสารอยู่บนเรือกว่าประมาณ ๒ ชั่วโมง จนถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. จึงเดินทางมาถึงเกาะหมาก และแยกย้ายไปสู่รีสอร์ทซึ่งกระจายกันพักโดยรอบเกาะหมาก ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมากได้จัดเตรียมไว้ให้ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันจัดกิจกรรมแรลลี่ฯ เวลา ๐๙.๐๐ น. นักปั่นจักรยานพร้อมกัน ณ ท่าเทียบเรืออ่าวนิด นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก กล่าวรายงานกิจกรรมการแข่งขัน และ นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. ร่วมเปิดงานและร่วมปล่อยตัวนักปั่นแรลลี่ที่จุด Start นักปั่นแรลลี่จะต้องขี่จักรยานไปตามเส้นทางที่กำหนด พร้อมกับร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ เล่นเกมส์ ศึกษาความรู้ที่เรือนหลวงพรหมภักดี และเยี่ยมชมอาณาจักรความรักของสมชายซึ่งเป็นศิลปินประติมากรรมปูนปั้น พักชมวิวที่แหลมตุ๊กตา หยุดพักตอนกลางวันที่วัดเกาะหมาก เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก เดินชมแผงผักปลอดสารพิษของชาวเกาะ โดยตลอดเส้นทางจักรยานชาวบ้านในชุมชนได้ช่วยกันตั้งจุดบริการน้ำดื่มให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่เกาะหมากให้เป็น Low Carbon Tourism เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ โดยมีสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเกาะหมากเป็น Green Island โดยการเปลี่ยนทัศนคติให้คนมุ่งมั่นมาเที่ยวแบบไม่สร้างภาระให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ ดังนั้น การจัดกิจกรรมแรลลี่นี้จึงเป็นการจัดกิจกรรม “การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า” เที่ยวแบบไม่เร่งรีบ มีเวลาศึกษาหาความรู้จากการศึกษาแหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทางที่ อพท. ได้ศึกษาและจัดทำคู่มือแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวโดยใช้จักรยานไว้แล้ว เพื่อสื่อสารเรื่องราว สาระสำคัญ รวมถึงความน่าสนใจของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่เกาะหมาก เพื่อไปสู่การสร้างประสบการณ์ ความเพลิดเพลิน ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง การสัมผัสได้ถึงมิตรภาพของผู้คน และเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับภูมิอากาศ หรือได้ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ที่ผ่านมา อพท. ได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ได้จัดทำโครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว โดยเริ่มศึกษาปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน (carbon foot print label) ในภาคการท่องเที่ยวจากสถานบริการ ร้านค้า โรงแรม รีสอร์ต โฮมสเตย์ ร้านอาหาร การขนส่งและผู้ประกอบการท่องเทียว พบว่า พื้นที่เกาะช้างมีค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ เฉลี่ยนักท่องเที่ยว ๑๙.๗๔ กิโลกรัม/คน/วัน ส่วนพื้นที่เกาะหมาก มีค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ เฉลี่ยนักท่องเที่ยว ๒๑.๑๒ กิโลกรัม/คน/วัน ขณะที่ประเทศไทยมีค่าคาร์บอนฟุตพรินต์เฉลี่ย ๑๑ กิโลกรัม/คน/วัน ดังนั้น พื้นที่เกาะหมาก ถือเป็นตัวเลขที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ผลการปลดปล่อยคาร์บอนคาดว่า จะทำให้อุณหภูมิในพื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ๔ องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐ ซึ่งเสี่ยงกับปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ๑ เมตร ส่งผลให้ชายฝั่งถูกทำลายและสูญเสียแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไป ภาวการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเรื่องของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจนเหลือช่องว่างระหว่างระดับน้ำทะเลกับแหล่งน้ำจืดอื่น ๆ บนแผ่นดินลดน้อยลง ซึ่งเกิดปัญหาชายหาดจมหายไปและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย การจัดกิจกรรมนี้ถือเป็นการจัดกิจกรรมแรลลี่เพื่อทดสอบเส้นทางให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์เป็นครั้งที่ ๒ (จัดครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๐) อพท. กับ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก จึงสำรวจเส้นทางใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจัดกิจกรรมแรลลี่จักรยานฯ ครั้งนี้ เพื่อเป็นการทดสอบและประเมินผลการพัฒนาเส้นทางให้มีความเหมาะสม ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ และเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผลการทดสอบพบว่า เส้นทางจักรยานมีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อการขี่จักรยาน ซึ่ง อพท. ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราดในการพัฒนาเส้นทางไบค์เลนเป็นการเฉพาะ และในปี ๒๕๕๕ อพท. มีแผนที่จะผลักดันเกาะหมากเป็น Green Island เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวระดับต้น ๆ ของโลกที่มีอากาศบริสุทธิ์ ระหว่างการแข่งขันสิ้นสุดลง นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล นายก อบต.เกาะหมาก กล่าวว่า การจัดกิจกรรม แรลลี่จักรยานฯ ในครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่องที่เหมาะสม ซึ่ง อบต. ได้จัดสรรงบประมาณรวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อพท. เพื่อดำเนินการ ในระยะทาง ๑๐ กิโลเมตรนี้ นายก อบต.เกาะหมาก ยอมรับว่า เกิดปัญหาเรื่องป้ายสัญลักษณ์บอกทางแก่ผู้แข่งขันปั่นจักรยานที่ยังไม่ชัดเจนพอ จึงมีนักปั่นจักรยานที่ไม่คุ้นเคยกับสถานที่หลงทางเสียเวลาในการแข่งขันบ้างเล็กน้อย ก็จะรับปัญหานี้มาแก้ไขปรับปรุงให้การจัดงานแรลลี่จักรยานในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งบางช่วง บางตอนต้องผ่านที่ดินของเอกชนก็จะหารือขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นเส้นทางผ่านสำหรับการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง อบต.เกาะหมาก มีความตั้งใจจะจัดแรลลี่จักรยานเป็นประจำทุกปีในช่วงก่อนถึงฤดูกาลท่องเที่ยวของเกาะหมาก พร้อมกับจะชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาแข่งพายเรือคายัค ชวนให้มาเที่ยวดำน้ำ ดูปะการัง ไปชมวิวที่บ้านแหลมตุ๊กตา ซึ่ง อบต.เกาะหมาก จะไม่หยุดความเจริญบนเกาะหมาก แต่จะจัดระบบต่าง ๆ ให้เป็นมิตรกับคนชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาจึงต้องเตรียมการรองรับไว้กรณีหากมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปีละประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน สำหรับปัญหาขยะประมาณ ๓ ตัน/วันบนเกาะหมาก ทาง อบต.เกาะหมาก กำลังเร่งแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะและการคัดแยกขยะ โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการเผาขยะแทนการฝังกลบ รวมทั้งได้ใช้เครื่องบดเศษแก้วและพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ ยังประสานงานกับ อพท. ในการนำขยะสดมาทำแก๊สชีวภาพ ซึ่ง อพท. กับ GIZ จะสาธิตให้ อบต.เกาะหมาก ดำเนินการในโอกาสต่อไป โดยช่วงค่ำของ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้จัดให้มีงานเลี้ยงและพิธีมอบถ้วยรางวัล ณ เกาะหมาก รีสอร์ท โดยมีผู้ชนะการแข่งขันดังนี้ รางวัลชนะเลิศ อันดับ ๑ คุณธงชัย เบียดนอก (กลุ่ม ๒) รางวัลชนะเลิศ อันดับ ๒ คุณอัมพร พุทธจรรยา (กลุ่ม ๑) รางวัลชนะเลิศ อันดับ ๓ กลุ่มพัทยาไบค์คลับ รางวัลชมเชย จำนวน ๒ รางวัล คุณถม ชาวกัมพูชา (กลุ่ม ๗) และคุณณาธร บุตรขุน (กลุ่ม ๕) รางวัลครอบครัวหรรษา ครอบครัวของ ว่าที่ร้อยตรีพรพรหม อตินันท์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เดินทางออกจากรีสอร์ทบนเกาะหมากไปขึ้นเรือที่ท่าเทียบเรืออ่าวนิดเพื่อเดินทางกลับสู่ท่าเทียบเรือกรมหลวงชุมพร จังหวัดตราด โดยระหว่างทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจเช็คจำนวนขยะรายบุคคลตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ถ้าใครสามารถนำขยะกลับมาได้มากกว่าหรือเท่ากับจำนวนที่นำติดตัวไป ก็จะได้รับรางวัลมากกว่าคนที่ไม่สามารถนำขยะกลับมาครบถ้วนได้ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์การ อพท. โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๕๘๐ ต่อ ๒๐๗

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ