ไอบีเอ็มยกระดับงานวิจัยไทยสู่มาตรฐานโลกมอบรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูงหรือ SUR Awards

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 25, 2011 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ไอบีเอ็มยกระดับงานวิจัยไทยสู่มาตรฐานโลกมอบรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูงหรือ SUR Awards ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ไอบีเอ็มมอบรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูง หรือ แชร์ ยูนิเวอร์ซิตี้ รีเสิร์ช อวอร์ด (Shared University Research : SUR Awards) รางวัลที่ส่งเสริมการวิจัยร่วมกันระหว่างไอบีเอ็มและมหาวิทยาลัย ให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส ด้วยการสนับสนุนคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พร้อมความรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์จากไอบีเอ็ม รางวัลนี้ จะเป็นการยกระดับการวิจัยในระดับชาติของไทย เพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานโลก บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด มอบรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูง Shared University Research หรือ เอสยูอาร์ อวอร์ด SUR Awards ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยรางวัลนี้จะช่วยยกระดับงานวิจัยของไทย ให้ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาการวิจัยไปสู่มาตรฐานโลก ทั้งนี้ไอบีเอ็มเป็นองค์กรธุรกิจที่ถึงพร้อมด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ในการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พร้อมทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ทางด้านเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งไอบีเอ็มมีโครงการสนับสนุนการวิจัยในรูปแบบของเงินทุนสนับสนุนและรางวัลต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คณาจารย์หรือนักวิจัยทั่วโลกสามารถนำเทคโนโลยีหรือเงินทุนสนับสนุนจากไอบีเอ็มไปดำเนินการค้นคว้า วิจัยหรือพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน และทำให้โลก ‘ฉลาด’ และน่าอยู่ยิ่งขึ้น นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีโครงการที่สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยของไทยหลายรางวัลและได้มอบให้กับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในรางวัลที่ไอบีเอ็มภาคภูมิใจในการช่วยพัฒนางานวิจัย คือ รางวัลสนับสนุนการวิจัยขั้นสูง IBM Shared University Research (SUR) Awards เป็นรางวัลที่ส่งเสริมการวิจัยร่วมกันระหว่างไอบีเอ็มและมหาวิทยาลัยทั่วโลก ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้รับรางวัล SUR Awards จากไอบีเอ็มแล้วกว่า 40 แห่ง ล่าสุดไอบีเอ็มได้มอบรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูง ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัย ที่ได้ทำงานวิจัยในระดับโลกร่วมกับ CERN หรือองค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป และเป็นสมาชิกของโครงการ Thailand National E-Science consortium ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์การคำนวณสมรรถนะสูงระดับชาติ โดยรางวัลดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะได้รับความร่วมมือจากไอบีเอ็ม อัลมาเดนแล็บ ( Almaden Lab) และ ไอบีเอ็มเวิร์ดไวด์ยูนิเวอร์ซิตี้โปรแกรม มอบเซิร์ฟเวอร์ 2 เครื่อง พร้อมด้วย ซอฟแวร์ GPFS และสตอเรจ ความจุ 60 เทราไบต์ และนักวิจัยจากไอบีเอ็ม อัลมาเดนแล็บ ที่จะมาช่วยเหลือสุรนารีในการสร้างต้นแบบการวิจัย พร้อมติดตั้งฮาร์ดแวร์ จากกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน พันธมิตรของไอบีเอ็ม”ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล สนับสนุนการวิจัยขั้นสูง จากไอบีเอ็มบริษัทไอทีระดับโลก ที่เห็นความสำคัญและความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่สามารถสนองตอบความต้องการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลัก ดันภารกิจการเรียนการสอน และการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็ง ในด้านการวิจัย สำหรับรางวัลที่ได้รับจากการติดตั้งคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะนำมาใช้ในโครงการวิจัย Storage cloud (GPFS — Panache) for High-Energy Physics “CERN” project ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National e-Science เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก เช่น ข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์นมาวิเคราะห์ในสาขาฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง รวมถึงการวิจัยขั้นสูงอื่นๆต่อไป นอกจากนี้เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงดังกล่าว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อวงการด้านงานวิจัยอย่างมาก ในการนำเอาเข้ามาประยุกต์ใช้ เพิ่มประสิทธิงานงานวิจัย ให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ทีมนักวิจัยของไทย จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ จากแล็บไอบีเอ็มระดับโลก ซึ่งจะช่วยยกระดับทักษะความสามารถ สร้างบุคลากร นิสิตนักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีพวกนี้เป็น และนำมาเข้าสู่อุตสาหกรรม พร้อมทั้งนำปัญหาจากอุตสาหกรรมเข้ามาวิเคราะห์และช่วยให้อุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการออกแบบ สร้างสรรค์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยไทยสู่การยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยนำงานวิจัยมาพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมีศักยภาพต่อไป” สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จินรี ตัณมณี โทร. 02 273 4676 chinnare@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ