สพพ. ๕ เร่งสานภาคีเครือข่ายการจัดทำแผนแม่บท การพัฒนาท่องเที่ยวระดับจังหวัดอย่างยั่งยืน

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday December 6, 2011 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--อพท. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยพื้นที่พิเศษเลย (สพพ.๕) เดินหน้าชี้แจงบทบาทหน้าที่ของ อพท. ในการบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว กับหน่วยงานราชการในระดับอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ตามที่จังหวัดเลยได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ นายประเสริฐ กมลวัทนนิสา รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย อพท. (สพพ.๕) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อร่วมประชุมเวทีประชาคมระดับอำเภอ รวมทั้งสิ้น ๖ อำเภอซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อำเภอเชียงคาน ภูกระดึง ภูเรือ หนองหิน ภูหลวง และนาแห้ว เพื่อรับฟังแนวทางและความต้องการของชุมชน รวมทั้งปัญหาการท่องเที่ยวในแต่ละอำเภอ เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนแม่บทการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของจังหวัดเลย สำหรับ อำเภอเชียงคาน ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงคาน ผลการประชุมสรุปว่า เชียงคานควรพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นเมืองที่สงบ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคานไว้ และควรจัดทำผังเมืองเชียงคานที่รองรับการเติบโตของเมืองใน ๕-๑๐ ปีข้างหน้า มีการเสนอกรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของเมืองไว้ ๘ ข้อ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกลับไปจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ที่จะบรรจุลงในแผนการพัฒนาพื้นที่ โดยอำเภอจะเป็นผู้รวบรวมและจะดำเนินการจัดประชุมอีกครั้งโดยมี สพพ. ๕ เข้าร่วมการประชุมด้วย อำเภอภูกระดึง ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอภูกระดึง บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างเป็นกันเอง โดยผู้นำชุมชนในแต่ละตำบลได้แบ่งกลุ่มกันอภิปราย รวบรวมความคิดเห็นและความต้องการพัฒนาทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า นอกจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึงแล้ว ในอำเภอภูกระดึงยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย ได้แก่ พื้นที่บริเวณเชิงเขาภูกระดึง น้ำตกตาดฮ้อง น้ำตกตาดห้วยวัว เขาสามยอด ภูเปลือยที่มีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์และมีรอยเท้าไดโนเสาร์ ท่องเที่ยวตามลำน้ำพองในฤดูน้ำหลาก ลานหินขนาดใหญ่ลาดกกมะค่า ร่องรอยประวัติศาสตร์ของขบวนการเสรีไทย ภาพวาดประวัติศาสตร์บนฝาผนังถ้ำวัวแดง ถ้ำฝ่ามือแดง และถ้ำพระ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังวัฒนธรรมทางภาษา คือ ภาษาไทเลย ชุมชนในพื้นที่มีความตื่นตัวในการเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงมีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมาเป็นสินค้าของท้องถิ่น ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ อบต. และเจ้าของพื้นที่แต่ละภาคส่วน ได้กลับไปจัดทำแบบเสนอโครงการคร่าวๆ มาเพื่อให้อำเภอรวบรวมมาพิจารณาบรรจุลงในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอต่อไป อำเภอภูเรือ ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอภูเรือ เป็นการลงพื้นที่จัดการประชุมเวทีประชาคมครั้งที่ ๒ ในครั้งนี้ ทางอำเภอได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอมานำเสนอด้วย แต่ยังขาดรายละเอียดของโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ที่ประชุมจึงได้มีมติ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนฯ นำโครงการแต่ละเรื่องกลับไปเพิ่มรายละเอียด พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการเอาไว้ด้วย โดยอำเภอจะเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมแผนงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบให้ อพท. ไปพิจารณาบรรจุลงในแผนแม่บทฯอีกครั้ง ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ในภาคบ่าย รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลยและคณะเจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ ได้เข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติภูเรือ โดยมี นายศรัทธา กุลทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นผู้ให้ข้อมูล ผลการลงพื้นที่ทำให้ทราบปัญหาของอุทยานแห่งชาติภูเรือ ได้แก่ ปัญหาของลานกางเต็นท์และแหล่งน้ำใช้ที่ไม่เพียงพอในช่วงฤดูหนาวที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยี่ยมชมความงามของธรรมชาติบนภูเรือกันมาก และปัญหาด้านการจัดการขยะ เป็นต้น อำเภอหนองหิน ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ ที่ว่าการอำเภอหนองหิน ในการจัดเวทีประชาคม ได้กล่าวถึง พื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ อบต. ต้องการเปิดพื้นที่ แต่มีปัญหาว่าถนนที่เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดในพื้นที่ชำรุดเสียหายมากเป็นอุปสรรคต่อการนำรถทัศนาจรและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมา ในที่ประชุมจึงได้เสนอให้บูรณะซ่อมแซมถนนที่เป็นเส้นทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เพื่อต่อยอดค้าขายและบริการในพื้นที่ต่อไป ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ทั้งสิ้น ๒๒,๕๕๐,๐๐๐ บาท สพพ.๕ ได้เสนอให้อำเภอจัดทำยุทธศาสตร์ระดับอำเภอ และที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการกลับไปจัดทำรายละเอียด จัดลำดับความสำคัญ และเสนอต่อปลัดอำเภออาวุโส เพื่อรวบรวมออกมาเป็นแผนท่องเที่ยว อ.หนองหิน และส่งมอบต่อให้ อพท. ในการประชุมครั้งต่อไป และ อบต. มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ ยอดภูป่าเปาะ ให้เป็นจุดท่องเที่ยวในอนาคต เพราะในช่วงฤดูหนาวมักจะมีนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติแวะขึ้นไปเยี่ยมชมและกางเต็นท์ จากนั้นคณะฯ ได้แวะเยี่ยมชมสวนหินผางามหรือที่รู้จักกันในนามของ “คุณหมิงเมืองไทย” ในพื้นที่ หมู่ที่ ๑๐ ซึ่งทาง อบต.ปวนพุ โดยเอกชนในพื้นที่มีความต้องการที่จะขอรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจาก อพท. ในการบริหารจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ อำเภอภูหลวง ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอภูหลวง ผลการประชุมสรุปว่า อำเภอภูหลวงมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่ควรได้รับการพัฒนาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ถ้ำดินลาย-ห้วยน้ำอุ่น วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา น้ำตกชื่นชีวิน ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง วัดถ้ำเสือ และภูหอ เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาขาดการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้รับรู้ ซึ่ง สพพ.๕ ได้ให้ความเห็นว่าอำเภอภูหลวงมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเสนอแนะให้ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นร่วมกันจัดทำแผนท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกอำเภอที่มีรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน โดยในที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจัดทำแบบเสนอโครงการและกิจกรรมต่างๆ แล้วส่งกลับมาให้อำเภอเป็นผู้รวบรวมเพื่อดำเนินการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอำเภอ ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ อำเภอนาแห้ว ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย. ๒๕๕๔ ณ ที่ว่าการอำเภอนาแห้ว นายฐากูล นุกูลโรจน์ ปลัดอำเภอนาแห้ว ทำหน้าที่ประธานกล่าวเปิดการประชุม ชี้แจงแผนงาน/โครงการ ของอำเภอนาแห้วและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอำเภอนาแห้ว จำนวน ๔๙ โครงการ ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาลตำบลนาแห้ว จำนวน ๑ โครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลนาพึง จำนวน ๒ โครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ากอหก จำนวน ๒ โครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลนามาลา จำนวน ๓ โครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลแสงภา จำนวน ๑๓ โครงการอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จำนวน ๒๗ โครงการ และแผนการจัดการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอดดาว ท้องที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ๑ โครงการ จากนั้นจึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสภาพพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว แนวทางการพัฒนาที่ควรเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เน้นความมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และควรมีโครงการที่เน้นด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักอำเภอนาแห้วมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้แต่ละท้องถิ่นได้กลับไปหารือแก้ไขและจัดทำรายละเอียดของแต่ละโครงการให้ชัดเจน แล้วนำมาเสนอต่ออำเภอเพื่อรวบรวมและดำเนินการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอำเภอนาแห้วต่อไป ทั้งนี้ ทาง สพพ. ๕ พบว่า หน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้นำชุมชนและชุมชมในพื้นที่มีความตื่นตัวมากในการนำเสนอข้อมูลและสนับสนุนกระบวนการทำงานเพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลยของทาง อพท. ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้จากที่ประชุมและการลงสำรวจพื้นที่ในอำเภอต่างๆ นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาบูรณาการเพื่อให้เกิดเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยได้อย่างประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท. โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๕๘๐, ๐๘ ๔๑๖๓ ๗๕๙๙

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ