"เผด็จภัย" เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลทราย

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2004 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กระทรวงอุตสาหกรรม
“เผด็จภัย”เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยและน้ำตาลทราย เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งราชการ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย หวังสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ภายในเมษายน 47 นี้
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายหรือ สอน. เปิดเผยว่าในเดือนเมษายน 2547 นี้
แนวทางการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 นี้ ทางนายเผด็จภัย มีคุณเอี่ยม รองปลัดกระทรวง อุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมายจาก นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น จะเรียกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย เข้าหารือ เพื่อสรุปปัญหาทั้งหมด และหาแนวทางแก้ไขปัญหา
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ได้มีแนวทางเบื้องต้นคือ กำหนดพื้นที่เพาะปลูกและกำหนดปริมาณอ้อยต่อปีให้อยู่ที่ 65 ล้านตัน โดยในส่วนนี้รัฐบาลจะ ชดเชยราคาให้ในกรณีที่ราคาอ้อยตกต่ำ แต่ส่วนที่เกินจะไม่มีการรับประกันราคาหรือช่วยเหลือ นอกจากนี้จะต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาล โดยลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ทางสอน.ได้ว่าจ้างให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรหรือ สศก. จำนวน 7 ล้านบาท เพื่อสำรวจและศึกษาต้นทุนการผลิตอ้อย ในปี 2546/2547 เพื่อเป็นฐานข้อมูลใหม่ใช้สำหรับการจ่ายเงินสนับสนุนและช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาการคำนวณและปัจจัยสำหรับการคำนวณนั้นจะใช้อัตราเฉลี่ยจากทั่วประเทศทำให้เกิดความลักลั่นกันในกลุ่มเกษตรกร
นอกจากนั้น “ขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพยายามที่จะเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาต่างของอุตสาหกรรมนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยการจำหน่ายภายในและต่างประเทศได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรกรและการขนส่งกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 100,000 ครัวเรือนและแรงงานในภาคเกษตรและการขนส่งอีกหลายหมื่นคน แต่อุตสาหกรรมนี้ยังประสบปัญหาและเป็นอุปสรรคในด้านการค้า เช่น ตลาดน้ำตาลของโลกถูกบิดเบือนจากการอุดหนุนการส่งออกโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศยุโรป ราคาน้ำตลาดโลกตกต่ำ ชาวไร่อ้อยมีภาระหนี้และโรงงานขาดสภาพคล่อง ขาดปัจจัยเอื้อหนุนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลเร่งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอดจึงได้เร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหา" นายณัฐพล กล่าว--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ