EU แก้ไขกฎระเบียบกำหนดค่าตกค้างสูงสุดของยาปราบศัตรูพืชใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2011 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--มกอช. EU แก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการกำหนดค่าตกค้างสูงสุดของยาปราบศัตรูพืชใหม่ 10 รายการ อนุโลมให้ตกค้างในสินค้าพืชและสัตว์ได้แต่ปรับลดค่าต่ำลงมาก ปลุกไทยตั้งรับทำบัญชีรายชื่อสารเคมีในการเพาะปลูก นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรปรายงานว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบ Commission Regulation(EU) No 813/2011 ว่าด้วยการกำหนดค่าตกค้างสูงสุด(Maximum Residue Levels : MRLs)ของยาปราบศัตรูพืชในสินค้าพืชและสัตว์ใหม่ โดยปรับลดระดับค่าสารตกค้างสูงสุดของยาปราบศัตรูพืช(pesticides) จำนวน 10 รายการ ในผลิตภัณฑ์สินค้าพืชผัก ผลไม้ ธัญพืช นมและสินค้าเนื้อสัตว์ ได้แก่ สาร acequinocyl, emamectin benzoate, ethametsulfuron-methyl, flubendiamide, fludioxonil, kresoxim-methyl, methoxyfenozide, novaluron, thiacloprid และสาร trifloxystrobin ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา เบื้องต้นคณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุโลมยอมให้ประเทศที่สามบางประเทศ สามารถปรับใช้ค่า MRLs ที่สูงกว่าค่าที่ EU กำหนดได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า ซึ่งกฎระเบียบนี้ได้อนุโลมค่า MRLs ให้กับประเทศแคนาดา สำหรับการใช้สาร ethametsulfuron-methyl ในเมล็ดพืชน้ำมัน พร้อมอนุโลมให้อินเดียสามารถใช้สาร flubendiamide ในข้าว นอกจากนั้นยังอนุโลมค่า MRLs ให้กับสหรัฐอเมริกาในการใช้สาร methoxyfenozide ในอาโวคาโดและทับทิม รวมทั้งใช้สาร fludioxonil ในมันเทศ และใช้สาร novaluron ในแครนเบอร์รี่ได้ “การที่สหภาพยุโรปได้อนุโลมค่าสารตกค้างสูงสุดของยาปราบศัตรูพืช ให้กับประเทศคู่ค้าบางรายครั้งนี้ เป็นไปตามช่องทางการผ่อนปรนในการนำเข้า ซึ่ง EU ได้เปิดช่องว่างให้ประเทศที่สามสามารถกระทำได้ภายใต้กฎระเบียบ Regulation(EC) No 396/2005 แสดงให้เห็นว่า การขอผ่อนปรนในการนำเข้าเป็นสิ่งที่กระทำได้จริงและ EU ให้การยอมรับ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเร่งขอผ่อนปรนในการนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการไปยัง EU เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน EU กำลังเร่งควบคุมและยกเลิกชนิดสารฆ่าแมลงที่อนุญาตให้ใช้ในการเพาะปลูกควบคู่ไปกับการปรับลดค่า MRLs ของสารแต่ละชนิด ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ค่าที่ระดับ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทางสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ไทยควรเร่งจัดทำบัญชีรายชื่อสารฆ่าแมลงที่ไทยใช้ในการเพาะปลูก รวมถึงเหตุผลความจำเป็นของการใช้สารปราบศัตรูพืชกับผักและผลไม้ของไทยแต่ละชนิด เพื่อให้ EU พิจารณาภายใต้การผ่อนปรนการนำเข้าเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อินเดีย และแคนาดา ซึ่งคาดว่า จะเป็นช่องทางสร้างความน่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธ ไม่ยอมรับค่า MRLs ที่ฝ่ายไทยจะเสนอข้อมูลให้พิจารณาใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ