กสทช. (ทริดี้) ปิดท้ายปีด้วยการแสดงศักยภาพห้องปฏิบัติการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงที่ จปร.

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2011 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--เอ็มบิส เอเชีย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผ่านทาง กลุ่มภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ สรุปโครงการส่งท้ายปี ด้วยการให้การสนับสนุนห้องปฏิบัติการด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นภารกิจที่ ทริดี้ ได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยในปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทางหน่วยงานได้สนับสนุนทุนเพื่อคุรุภัณฑ์สำหรับ ห้องปฏิบัติการกลุ่มเชี่ยวชาญแห่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง เพื่อสนับสนุนให้เป็นแหล่งการศึกษาที่มีประโยชน์แก่นักเรียนนายร้อย ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ ในโอกาสดังกล่าว ประธาน และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นำโดย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี (ประธาน กสทช.), พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (รองประธาน กสทช.), พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร (กสทช.), พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ (กสทช.) ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน นิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ๒๕๕๔ และรับเสด็จ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จเป็นองค์ประธาน กลุ่มเชี่ยวชาญของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงาน กสทช. สามารถพิจารณาแบ่งเป็นกลุ่มวิจัยหลักเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง และ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้ กลุ่มโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง มุ่งวิจัย พัฒนา และประดิษฐ์ อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้ในงานเพื่อความมั่นคง ศึกษาประโยชน์ของแต่ละคลื่นความถี่กับการใช้งานด้านความมั่นคง โดยกลุ่มเชี่ยวชาญนี้จะมุ่งเน้นผลลัพธ์ ในด้าน งานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) เป็นการวิจัยและพัฒนาที่นำทฤษฏีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาและประดิษฐ์อุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นประโยชน์ต่องานด้านความมั่นคง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้อาจมีใช้งานอยู่แล้วในหน่วยงานเพื่อความมั่นคง แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ หรืออาจยังไม่มีใช้งานในประเทศ แต่มีความต้องการในการใช้งาน เช่น Passive Radar, Jammer, Harmonic Radar, Electromagnetic Pulse Generator, Bomb Detection และ Portable Ubiquitous for Surveillance System เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นผลลัพธ์ด้าน งานวิจัยชั้นสูง (Advanced Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านโทรคมนาคม และสามารถนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ โดยตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติ หรือนำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ ซึ่งมุ่งเน้นหัวข้อการจัดการคลื่นความถี่ในอนาคต เช่น Cognitive Radio และ Software Defined Radio เป็นต้น กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ และประดิษฐ์ ระบบ ฮาร์แวร์ ซอฟแวร์ และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความปลอดภัยและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติด้านสารสนเทศ โดยมีหัวข้อที่สนใจ ได้แก่ Network Sensor for Security Surveillance System, Encryption, และ Secure Server เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงเหล่านี้ ต้องอาศัยการวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ และประดิษฐ์ ระบบฮาร์แวร์ ซอฟแวร์ ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นโครงการพัฒนากลุ่มเชี่ยวชาญแห่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง (Excellence Group of Chulachomklao Royal Military Academy in Telecommunication and Information Security) จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง และเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการให้กับหน่วยงานเพื่อความมั่นคงของรัฐ และภาคอุตสาหกรรมของไทย ในด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง สำนักงาน กสทช. จึงต้องการสร้างความพร้อมในด้านอุปกรณ์วิจัยด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงให้แก่สถาบันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ในงานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐได้ รวมทั้งมีส่วนช่วยผลิตบุคลากรในระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ความเข้าใจในการวิจัยพัฒนาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง และสามารถถ่ายทอดความรู้ นำเสนอเทคนิคและวิธีการ รวมถึงต้นแบบอุปกรณ์แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ผลงานสามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการสนับสนุนของ สำนักงาน กสทช. ในโครงการพัฒนากลุ่มเชี่ยวชาญแห่งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคง จะสามารถทำให้เกิดมิติใหม่ในการพัฒนาภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ