ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ดุสิตธานี” เป็นระดับ “BBB+/Stable” จาก “A-/Negative”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2011 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB+” จาก “A-” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตที่ปรับลดลงสืบเนื่องจากการมีผลประกอบการที่อ่อนแอและการฟื้นตัวที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ อันดับเครดิตระดับ “BBB+” สะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทในฐานะเป็นโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยและฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้ที่ต่ำ นอกจากนี้ ในการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงโรงแรมของบริษัทที่กระจายตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การขยายโรงแรมไปในต่างประเทศ และศักยภาพในการขยายสู่ธุรกิจบริหารโรงแรมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติของธุรกิจโรงแรมที่มีความผันผวนและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการเติบโตและความหลากหลายของโรงแรมของบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นซึ่งจะส่งผลทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น และการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังถือเป็นการช่วยพยุงคุณภาพเครดิตของบริษัทในช่วงวงจรอุตสาหกรรมขาลง ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทดุสิตธานีเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมชั้นนำของไทยซึ่งประกอบกิจการและรับบริหารโรงแรมภายใต้ชื่อดุสิตธานี ดุสิตปริ้นเซส ดุสิตดีทู ดุสิตเทวารัณย์ และดุสิตเรสซิเดนท์ บริษัทก่อตั้งในเดือนกันยายน 2509 โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย และในปี 2513 ได้เปิดดำเนินการโรงแรม 5 ดาวในชื่อ “ดุสิตธานี” ในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก การมีประวัติที่ยาวนานได้สร้างชื่อเสียงที่มั่นคงและทำให้บริษัทสามารถขยายสู่ธุรกิจการบริหารโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) และอียิปต์ ณ เดือนกันยายน 2554 โรงแรมภายใต้การบริหารงานของบริษัทประกอบด้วยโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 6 แห่ง (2,086 ห้อง) โรงแรมภายใต้การรับจ้างบริหารจัดการ 10 แห่ง (2,356 ห้อง) และโรงแรมที่ดำเนินการภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท 5 แห่ง (1,080 ห้อง) นโยบายทางธุรกิจของบริษัทค่อนข้างอนุรักษ์นิยม โดยบริษัทมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนโรงแรมที่บริษัทรับบริหารกิจการ อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงแรมภายใต้การบริหารของบริษัทเติบโตค่อนข้างช้าเนื่องจากตลาดหลักของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากตลาดตะวันออกกลางแล้ว บริษัทยังได้เจรจากับผู้ประกอบการโรงแรมใหม่ ๆ ในประเทศอินเดียและประเทศจีนเพื่อขยายธุรกิจด้านบริหารโรงแรมด้วย ทั้งนี้ รายได้จากการรับบริหารโรงแรม ณ เดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ 60.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 2.3% ของรายได้ ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทดุสิตธานีได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานผันผวนด้วยผลกระทบจากความอ่อนไหวของอุตสาหกรรม ตลอดจนความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศ และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทมาจากโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 3 แห่งเป็นหลัก คือ โรงแรมดุสิตธานีที่กรุงเทพฯ ที่พัทยา และที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยรายได้จากโรงแรมอื่นที่บริษัทเป็นเจ้าของยังมีสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ แม้บริษัทจะขยายการดำเนินธุรกิจไปยังต่างประเทศ แต่รายได้มากกว่า 70% ยังคงมาจากภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ การลงทุนในกิจการโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์โดยผ่านบริษัทย่อยคือ DMS Property Investment Private Ltd. (DMS) จะช่วยผลักดันให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ภายในประเทศ นับตั้งแต่การชุมนุมทางการเมืองในเดือนธันวาคม 2551 รายได้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องโดยตกลงจาก 3,313 ล้านบาทในปี 2551 มาอยู่ที่ 2,879 ล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 รายได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่ฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 นอกจากนี้ การรวมผลประกอบการของโรงแรมดุสิตธานีลากูน่า ภูเก็ต เข้ามาก็มีส่วนทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ในส่วนของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66% เปรียบเทียบกับโรงแรมเดียวกันที่ระดับ 61% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,731 บาทเมื่อเทียบกับ 2,502 บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าห้องพักต่อคืนสำหรับโรงแรมของบริษัทโดยเฉพาะโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ มีอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาพลักษณ์ของโรงแรมที่ไม่ตามสมัย อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากกว่า 20% ในอดีตเป็น 14.82% ในปี 2552 และลดเหลือระดับเลขหนึ่งหลักในปี 2553 และ 9 เดือนแรกของปี 2554 ตามลำดับ ส่งผลทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานลดลง แม้กำไรจะลดลง แต่บริษัทก็มีสภาพคล่องที่ดีเนื่องจากมีภาระหนี้ที่ต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการดำเนินนโยบายทั้งในด้านการลงทุนและการเงินที่ ระมัดระวัง โดยนโยบายการเติบโตของบริษัทมุ่งเน้นการขยายบริการรับจ้างบริหารโรงแรม และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทไม่มีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมใหม่ ทั้งนี้ เงินลงทุนที่ไม่สูง ประกอบกับการขายสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลงจาก 1,299 ล้านบาทในปี 2551 เหลือ 369 ล้านบาทในปี 2553 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอยู่เสมอ โดยในเดือนธันวาคม 2553 บริษัทได้ลงทุนมูลค่า 1,228 ล้านบาทในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี โดยใช้เงินได้จากการขายและให้เช่าสินทรัพย์ของบริษัทเพื่อลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2554 บริษัทได้ซื้อโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์โดยผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 55% ซึ่งส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2554 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,562 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 25.22% เพิ่มขึ้นจาก 8.07% ณ เดือนธันวาคม 2553 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 แต่มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคกลางและหลายเขตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ก็มีผลกระทบที่ทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมช้าลง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 น่าจะอยู่ที่ 4.06 ล้านคน ลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองจะยังคงส่งผลกดดันการสร้างรายได้และจำกัดความสามารถในการปรับเพิ่มอัตราค่าห้องของผู้ประกอบการโรงแรม โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ บริษัท โรงแรมดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DTC) อันดับเครดิตองค์กร: ลดเป็น BBB+ จาก A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่) จาก Negative (ลบ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ