“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายพิเศษเรื่อง “พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก”

ข่าวทั่วไป Friday December 30, 2011 09:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ธนาคารแห่งประเทศไทย เนืองในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ภัทรมหาราช ธนบัตรชาติไทย”ภายใต้แนวคิด “ความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย ข้างหลังภาพธนบัตร” พร้อมจัดกิจกรรมบรรยายพิเศษเรื่อง “พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งแต่ พ.ศ.2531 จนถึงปัจจุบัน ดร.สุเมธ กล่าวในการบรรยายครั้งนี้ว่า หากคนไทยมองพระเจ้าอยู่หัวฯ ฟังพระองค์ ใช้สติปัญญาในการตีความ เราจะได้ความรู้ ความรู้สึกมากมายจากพระองค์ท่าน เริ่มจากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ดร.สุเมธกล่าวว่า ไปที่ไหนก็เจอ ในห้องนิทรรศการห้องแรกก็มีประโยคนี้ ความเป็นจริงหลายคนอาจจะเกิดไม่ทันด้วยซ้ำไป ตอนที่เสด็จขึ้นครองราชย์ และรับสั่งประโยคนี้ ดร.สุเมธก็เพิ่งอายุ 7 ขวบเท่านั้นเอง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ก็มีการแปล แต่คิดว่าไม่มีใครมองลึกซึ้งลงไป ผมสังเกตว่า พวกเราชอบเห็นพระเจ้าอยู่หัวแต่ไม่เคย “มอง”พระเจ้าอยู่หัว ชื่นอกชื่นใจกับการเห็น แต่ไม่เคยไถ่ถามตัวเองว่า เหตุที่ทรงทำมาตลอดระยะเวลา 65 ปีนั้นมีความหมายอะไร มีความต้องการอะไร เราควรเข้าใจอะไรบ้าง ไม่เคยมีการถาม ชอบจริง ๆ เมื่อพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งทางใด ก็เงี่ยหูได้ยินพระสุรเสียง ชื่นอกชื่นใจ ตั้งอกตั้งใจ แต่ไม่เคยฟังพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งปั๊บถามปุ๊บว่าเมื่อกี้รับสั่งว่าอะไร ไม่รู้ซิ มั่วแต่ซาบซึ้งใจ น้ำหูน้ำตาไหล น่าเสียดายทรงสอนมา 65 ปี พวกเราถ้าเป็นนักเรียน ไม่รู้จะได้เกรดเท่าไรน่าสงสัยอยู่” ในฐานะนักรัฐศาสตร์เต็มตัว เพราะท่านสำเร็จปริญญาตรี-ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากประเทศฝรั่งเศส ดร.สุเมธบอกว่า รู้สึกฉงนใจและประทับใจกับประโยคแรก ที่ทรงรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม ...” ทรงใช้คำว่า “ครอง” แทนคำว่า “ปกครอง” ซึ่งไม่ได้มีมิติของอำนาจเลยแม้แต่นิดเดียว หากแต่มีมิติของจิตใจ ความรู้สึก ความเคารพ ความนับถือและเหนือสิ่งอื่นใด นั้นคือ ความรัก ซึ่งเหนือกว่าการปกครองด้วยซ้ำ เพราะการปกครองไม่ต้องใช้ความรู้สึก ความรักก็ได้ แค่ใช้อำนาจอย่างเดียว “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม... ณ วันนั้นทรงประกาศคำว่า Good Governance แล้ว ก่อนฝรั่ง 50 ปี คนไทยต้องมารอให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเสียก่อน แล้วลุกขึ้นมาพูดคำว่า Good Governance ธรรมาภิบาลตามฝรั่ง ความจริงพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศมาก่อนตั้ง 50 ปี เราจะครองแผ่นโดยธรรม คำว่าธรรมะนี้คือ ธรรมาภิบาล ภาษาอังกฤษ คือ Good Governance นี่ถึงบอกว่าถ้าเรามองพระเจ้าอยู่หัว เราฟังพระองค์ท่าน ใช้สติปัญญาในการตีความ เราจะได้ความรู้ ได้ความรู้สึกอย่างมากมายจากพระองค์ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม พระองค์ท่านทรงปฎิบัติมาตลอด อย่างเหน็ดเหนื่อย พระวรกายบอบช้ำทุกวันนี้เพราะอะไร 65 ปีนะครับ ผมยังมีโอกาสได้ถวายงานเพียง 34 ปี ครึ่งเดียว ผมยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหลือประมาณ.... ตลอดระยะเวลา 65 ปี ถ้าใครมาถามผมว่า พระองค์ทรงทำอะไร พระองค์ทรงรักษาแผ่นดินไว้ให้เราอยู่ ทรงรักษา ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งหมายถึงปัจจัยแห่งชีวิตไว้ให้เราให้ลูกหลานเราได้อยู่อย่างมีความสุข ตามพระราชปณิธาน ที่พระองค์ท่านได้ทรงรับสั่งไว้ว่า.... เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตลอดระยะเวลา 65 ปี เหงื่อหยดแล้ว หยดซ้ำ เพื่อรักษาแผ่นดิน รักษาชีวิตเราไว้ให้อยู่อย่างประโยชน์สุข บนฐานของความสมบูรณ์ และมีกิน หากเราช่วยกันทำคนละมือคนละไม้ เพื่อรักษาแผ่นดินนี้ ในหลวงคงเหนื่อยน้อยกว่านี้เยอะ” ดร.สุเมธกล่าว สำหรับนิทรรศการ “ภัทรมหาราช ธนบัตรชาติไทย” ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอัญเชิญภาพพระราชกรณียกิจด้านหลังธนบัตรมาจัดแสดงผ่านสื่อมัลติมีเดีย เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อสร้างประโยชน์สุขอย่างแท้จริงให้กับคนไทยตลอด 65 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้คัดเฉพาะสิ่งหาชมยาก อาทิ ภาพต้นแบบของธนบัตรที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน ธนบัตรรัชกาลปัจจุบันที่หายากที่สุด ธนบัตรเลขสวย เป็นต้น มาให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของธนบัตรชาติไทย ทั้งนี้โดยเปิดให้เข้าชมฟรี ไปจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2555 ตั้งแต่เวลา 09.00 -16.30 น. เว้นวันหยุดธนาคาร ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 356 7787 , 02 283 6778 และ 02 283 6722

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ