ธนาคารไทยพาณิชย์แข็งแกร่ง กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และจะจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Monday March 1, 2004 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ผลประกอบการของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ แสดงกำไรสุทธิ 12,460 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 19.5% และกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.94 บาท ซึ่งสูงที่สุดหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "กำไรสุทธิที่สูงที่สุดตั้งแต่ตั้งธนาคารมานี้ เป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจธนาคารซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยขึ้น ประสิทธิภาพของบุคลากรและเครือข่ายทั้งของธนาคารและสถาบันการเงินในกลุ่ม การบริหารสภาพคล่องที่ดี และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นผลสำคัญจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงอย่างมาก คงเหลือเพียงการตั้งสำรองเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธนาคารสามารถจัดการกับภาระเรื่องหนี้มีปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างดี"
ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า "นอกจากกำไรสุทธิที่เป็นสถิติใหม่แล้วขนาดสินทรัพย์ และส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2546 ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นมากและเป็นสถิติใหม่เช่นเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบัน นอกจากธนาคารจะได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากวิกฤติเศรษฐกิจแล้วธนาคารยังก้าวสู่ระดับการดำเนินธุรกิจขั้นใหม่ทั้งในด้านสถานะทางการตลาด ความสามารถในการทำกำไร และการเจริญเติบโตโดยพื้นฐานที่สำคัญของความสำเร็จนี้มาจากรากฐานที่แข็งแกร่งของธนาคาร
โดยเฉพาะผู้บริหารและพนักงานของธนาคารทุกคนที่ได้ร่วมใจ ทำงานเป็นทีม ผลักดันให้โครงการปรับปรุงธนาคารที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 เริ่มแสดงผล"
จากผลประกอบการที่โดดเด่นนี้ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการของธนาคารได้แจ้งว่า "ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 คณะกรรมการได้พิจารณางบการเงินประจำปี 2546 ที่ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว ซึ่งธนาคารแสดงผลกำไรสุทธิจำนวน12,460 ล้านบาท จึงมีมติเห็นควรให้มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทั้งผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญในอัตรา 1.40 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2547 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 30 เมษายน 2547 ซึ่งธนาคารจะต้องนำเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินประจำปี 2546 และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 8 เมษายน 2547 ต่อไป"
ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "การจ่ายเงินปันผลครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งคณะกรรมการรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นของธนาคาร โดยผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มจะได้รับประโยชน์นี้ การที่ธนาคารมีผลประกอบการที่ดีและสามารถจ่ายเงินปันผลได้นี้
คณะกรรมการธนาคารต้องขอขอบคุณผู้บริหารและพนักงานของธนาคารทุกคนที่ได้ทุ่มเทเป็นอย่างยิ่งและต้องขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ได้ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดมา"
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จ่ายเงินปันผลครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2540 จากผลประกอบการครึ่งปีแรกสำหรับการจ่ายเงินปันผลในครั้งนี้ ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิของธนาคาร (SCB Warrant) ที่ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ (อัตรา 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิต่อ 1 หุ้นบุริมสิทธิ) ในรอบการใช้สิทธิวันที่ 22 มีนาคม2547 นี้จะเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดผลประกอบการประจำปี 2546 หลังจากการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระแสดงไว้ในเอกสารแนบ
เอกสารแนบ
งบการเงินเฉพาะของธนาคาร
1. สรุปผลประกอบการที่สำคัญประจำปี 2546
ผลประกอบการที่สำคัญในปี 2546 ภายหลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ ไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญจากผลประกอบการเบื้องต้นที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2547
ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 12,460 ล้านบาทเทียบกับขาดทุนสุทธิ 12,488 ล้านบาทในปี 2545กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองในปี 2545 สูงถึง 24,826 ล้านบาทเทียบกับสำรองที่ตั้งในปีนี้จำนวน 2,400 ล้านบาท นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1เป็น 19,075 ล้านบาทและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 2.7 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 9,298 ล้านบาทส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วม สำหรับค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงเป็น 13,512 ล้านบาท และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Operating cost toincome ratio) ลดลงจากร้อยละ 53 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 48 ในปีนี้
2. งบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546
ธนาคารมีสินเชื่อก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 506,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากสิ้นปี 2545 สำรองหนี้สงสัยจะสูญ 71,961 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 1,671 ล้านบาท
ธนาคารมียอดเงินฝาก 607,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,530 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.8 จากสิ้นปี2545
ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 75,524 ล้านบาท คิดเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิจำนวน 23.88 บาทต่อหุ้น เทียบกับจำนวน 16.64 บาทต่อหุ้น ณ สิ้นปี 2545 มีเงินกองทุนตามกฎหมายรวม 66,742 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.9 ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 7.1 ของสินทรัพย์เสี่ยงและหากรวมกำไรของปี 2546 สัดส่วนเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของสินทรัพย์เสี่ยง
3. สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหา
ธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหา (NPL) ตั้งแต่ชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมาตามคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2546 จำนวน 89,769 ล้านบาทหรือร้อยละ 17.51 ลดลง 28,488 ล้านบาทจากปี
ก่อนซึ่งมีจำนวน 118,257 ล้านบาท (ร้อยละ 24.2) สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหามีจำนวนลดลงส่วนหนึ่งเนื่องจากการตัดหนี้สูญและจากการแก้ปัญหาหนี้ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
งบการเงินรวม
ผลประกอบการที่รวมบริษัทย่อย ณ สิ้นปี 2546 มีกำไรสุทธิ 12,460 ล้านบาท โดยรายได้และค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปมีแนวโน้มเช่นเดียวกับรายได้ที่แสดงในงบการเงินเฉพาะของธนาคาร กล่าวคือ เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2545 รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 1,678 ล้านบาท รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น637 ล้านบาทส่วนใหญ่จากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมและบริการและค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง134 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย
งบดุลรวมซึ่งรวมผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 มีสินทรัพย์รวม746,838 ล้านบาท (สิ้นปี 2545 : 675,722 ล้านบาท) หนี้สินรวม 670,180 ล้านบาท (สิ้นปี 2545 :622,657 ล้านบาท) และ ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 76,659 ล้านบาท (สิ้นปี 2545 : 53,065 ล้านบาท)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), 9 ถนนรัชดาภิเษก ตำบลลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
สายนักลงทุนสัมพันธ์ โทร: 662-544-4222, แฟกซ์: 662-937-7931, Web site http://www.scb.co.th, E-mail: investor@scb.co.th
Reuter: SCB.BK, SCBf.BK, SCB-_p.BK, SCBp.BK; Bloomberg: SCB TB, SCB/F TB, SCB/P TB, SCB/Q TB--จบ--
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ