กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--IR network
-เริ่มจำหน่ายและรับรู้รายได้ ก.พ./วางเป้ารายได้ปีนี้แตะ 17,000 ลบ.
“สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล” ปลื้มหลังทดลองเดินเครื่องผลิตในโครงการ “กรีนมิลล์ โปรเจ็ก” คาดเริ่มผลิตจำหน่ายและรับรู้รายได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ ระบุปี 2555 นักลงทุนได้เห็นพื้นฐานของ MILL เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งกว่าเดิม โดยอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มสูงโดยไต่ระดับได้ถึง 15% จากธุรกิจเหล็กปกติที่อยู่ในช่วง 3-5% อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากโครงการกรีนมิลล์และได้รับ BOI ระยะเวลา 8 ปี วางเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% แตะระดับ 17,000 ล้านบาท
นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) (MILL) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ Green MILL ว่าภายหลังจากที่ได้ทดลองเดินเครื่องผลิตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันถือว่าได้ผลในระดับที่น่าพอใจและคาดว่าจะผลิตพร้อมจำหน่ายสินค้าได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะทำให้ MILL สามารถรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้เลย
“เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้จะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการ Green MILL ได้แล้ว ซึ่งจากนี้นักลงทุนจะได้เห็นปัจจัยพื้นฐานของ MILL เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะโครงการกรีนมิลล์จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นระยะเวลา 8 ปี อีกทั้งเป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิต billet ทั้งระดับ commercial grade ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย และ billet ระดับ special grade เพื่อสร้างสินค้าที่เป็น high value added ซึ่งจะผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้น และจะผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้น(margin) ของ MILL ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีสิทธิ์ที่จะไต่ระดับขึ้นไปถึง 15% จากการดำเนินธุรกิจเหล็กโดยปกติ ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับประมาณ 3-5% เท่านั้น”
สำหรับเป้าหมายของ MILL ในปี 2555 คาดว่ารายได้จะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% หรือประมาณ 17, 000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผลประกอบการในปี 2554 ซึ่งเตรียมที่จะประกาศผลประกอบการรอบปี 2554 ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ที่ระดับประมาณ 15,000 ล้านบาท
เขากล่าวต่อถึงแนวโน้มธุรกิจเหล็กในปีนี้ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะขยายตัวตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขณะเดียวกันผลกระทบจากการเกิดเหตุอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งในช่วงนั้นมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ไม่สามารถที่จะจัดส่งสินค้าได้ ทำให้โครงการก่อสร้างหลายโครงการชะลอตัว ส่งผลมาถึงปัจจุบันมีความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น ทั้งในส่วนของโครงการที่ต้องก่อสร้างต่อเนื่อง โครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และยังมีงานซ่อมแซมอันเกิดจากปัญหาอุทกภัย ดังนั้นจึงถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจเหล็ก