ไทยพร้อมเป็นฐานการผลิต HDD บีโอไอปรับนโยบายขยายครอบคลุมทั้งคลัสเตอร์

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2004 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอไฟเขียวปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนกิจการ Hard Disk Drive ให้ครอบคลุมทั้งกิจการผลิต HDD และชิ้นส่วน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งคลัสเตอร์ของ HDD พร้อมขยายผลการบังคับใช้ให้โครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วแต่ยังไม่มีรายได้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่ได้ด้วย รวมทั้งปรับลดเงื่อนไขเพื่อจูงใจผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ Hard Disk Drive (HDD) จากเดิมที่ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการผลิต HDD มาเป็นให้สิทธิประโยชน์ทั้งกิจการผลิต HDD และชิ้นส่วน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต HDD) ใหญ่ของโลก และจูงใจให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
" วันนี้ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิต HDD ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว มีผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยแล้วจำนวน 4 บริษัท คือ ซีเกท, ฮิตาชิ-ไอบีเอ็ม, เวสเทิร์น ดิจิตอล และ ฟูจิตสึ รวมมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาท และในเร็วๆ นี้ จะมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มด้วย " นายพินิจกล่าวนอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ขยายผลการบังคับใช้นโยบายส่งเสริมกิจการ HDD ให้โครงการที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วแต่ยังไม่มีรายได้จากการดำเนินงานสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้นโยบายนี้ได้ด้วย สำหรับสิทธิประโยชน์ทั่วไปนั้นจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต และให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรมาเพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิมได้ตลอดเวลาที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อให้มีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในตลาดโลก
ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ให้ได้รับแตกต่างกันตามเขตคือ เขต 1 ได้รับการยกเว้น 4 ปี เขต 2 ได้รับยกเว้น 6 ปี และเขต 3 ได้รับยกเว้น 8 ปี ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนั้น หากผู้ประกอบการสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบไม่จำกัดวงเงิน และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามเขตการลงทุนอีกกรณีละ 1 ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้ปรับปรุงเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อความคล่องตัวและผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้จริง เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบ ได้เพิ่มรายละเอียดนอกเหนือจากกำหนดให้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขายต่อปี คือ " หรือไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทสำหรับกิจการผลิต HDD หรือไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาทสำหรับกิจการผลิตชิ้นส่วน HDD" ส่วนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้รับช่วงการผลิตไทยหรือสนับสนุนสถาบันการศึกษาก็มีการปรับไปในทิศทางเดียวกัน--จบ--
-พห-

แท็ก บีโอไอ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ