บอร์ดบีโอไอเห็นชอบปรับปรุงนโยบาย STI ให้สนับสนุนทุกกิจการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2004 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุน STI เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทุกประเภทมีการพัฒนาด้าน Skill Technology และ Innovation โดยเปิดกว้างสนับสนุนกิจการทุกประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริม และให้ครอบคลุมถึงโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ ก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้นโยบาย STI ได้ เพื่อมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างเต็มที่
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้าน STI (Skill Technology Innovation) ที่ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ จากเดิมที่เคยกำหนดให้การส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่ม (แฟชั่น ยานยนต์ ไอซีที) และกิจการที่ส่งเสริมการพัฒนาด้าน STI โดยตรง 7 ประเภท ได้แก่ กิจการผลิตเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ กิจการผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการบริการสอบเทียบมาตรฐาน กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทุกประเภทของประเทศเกิดการพัฒนาด้านทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
" อุตสาหกรรมทุกประเภทมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและก้าวไปสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นบีโอไอต้องเปิดโอกาสให้ทุกประเภทกิจการมีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบาย STI อย่างเท่าเทียมกัน " นายพินิจกล่าว
นอกจากนี้ การปรับปรุงนโยบายในครั้งนี้ยังได้ขยายผลการบังคับใช้ให้ครอบคลุมถึงโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีรายได้จากการดำเนินงานสามารถยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้นโยบาย STI ได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไม่ต้องยกเลิกโครงการเดิมมายื่นขอรับการส่งเสริมใหม่
ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการบีโอไอ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ภายใต้นโยบาย STI ว่าต้องประกอบด้วย 1. มีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขายต่อปีภายใน 3 ปีแรก 2. มีการจ้างบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-5 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ภายใน 3 ปีแรก 3. มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรไทยเทียบกับค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ภายใน 3 ปีแรก และ 4. มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้รับช่วงการผลิตไทย หรือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายต่อปี ภายใน 3 ปีแรก
" กิจการใดที่มีคุณสมบัติใน 4 ข้อข้างต้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มกรณีละ 1 ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี และให้ได้รับยกเว้นภาษีเครื่องจักรด้วย ซึ่งในบางกรณีจะทำให้กิจการที่จะลงทุนในเขต 1 หรือเขต 2 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับการลงทุนในเขต 3 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อด้วย " เลขาธิการบีโอไอกล่าว--จบ--
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ