บอร์ดบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนใหญ่ 5 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนพุ่งกว่า 1.66 หมื่นล้าน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2004 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--บีโอไอ
กิจการอุทยานสัตว์น้ำ (Aquarium)
กิจการผลิตTYRE CORD ของบริษัทไทย บาโรด้า
กิจการผลิตปิโตรเคมี (ไซโคลนเฮกเซน) ของบริษัท อะโรเมติกส์
กิจการผลิตผลิต PARTICLE BOARD
กิจการประกอบรถยนต์ ของบริษัท มิตซูบิชิ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 16,641.6 ล้านบาท ดังนี้
- กิจการอุทยานสัตว์น้ำ ของนายโรเบิรต์ อดัม สามารถให้บริการกับผู้เข้าชมอุทยานสัตว์น้ำได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านคน มูลค่าเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 105 คน ต่างชาติ 5 คน ตั้งสถานประกอบการที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารสยามพารากอน เขตปทุมวัน กทม.เฉพาะในส่วนชั้นใต้ดิน (สัญญาเช่า 25 ปี) ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการลดหย่อนอากรขาเข้ากึ่งหนึ่งสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ประกอบกิจการ
โครงการนี้จะเป็นอควาเรียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยปลูกฝังจิตใจในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และนิเวศน์วิทยาทางทะเล โดยผู้ลงทุนในโครงการนี้คือ บริษัท OCEANIS GROUP จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดในย่านเอเซียแปซิฟิค และเป็นอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันมีโครงการอุทยานสัตว์น้ำได้รับส่งเสริมการลงทุน 2 ราย ดังนี้ โครงการของบริษัท อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ จำกัด และโครงการของบริษัท อยุธยาอควาเรียม จำกัด
- โครงการขยายกิจการผลิต TYRE CORD ของบริษัท ไทย บาโรด้า อินดัสตรี้ส์ จำกัด มีกำลังผลิตปีละประมาณ 12,000 ตัน เงินลงทุน 1576.2 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 212 ต่างชาติ (อินเดีย) 2 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ารวม 72.9 ล้านบาท/ปี โดยจะทำการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 30 ต่างประเทศร้อยละ 70 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้เป็นการขยายกิจการเพื่อผลิต TYRE CORD สำหรับนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมประกอบยานยนต์มีการเติบโตในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ TYRE CORD ในการผลิตยางรถยนต์มีปริมาณความต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยมีลูกค้าหลักในประเทศที่สำคัญ ไทย บริดจสโตน สยามไทร์ และลูกค้าหลักต่างประเทศ ได้แก่ CEAT LIMTED (INDIA) อโพโล (อินเดีย) บริดจสโตน(อินโดนีเซีย) มิชลิน (โคลัมเบีย) เป็นต้น
- โครงการขยายกิจการผลิตไซโคลนเฮกเซน ของบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ ไซโคลนเฮกเซน กำลังการผลิตปีละประมาณ 150,000 ตัน เงินลงทุน 1,296.4 ล้านบาท มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ารวม 2,425 ล้านบาท/ปี โดยจะทำการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 67 ต่างประเทศร้อยละ 33 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้เป็นการผลิตไซโคลนเฮกเซน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตคาโปรแลคตัม เพื่อใช้ผลิตเส้นใย ไนล่อนอีกทอดหนึ่ง เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นี้ในประเทศ นอกจากนี้การที่บริษัทลงทุนเพิ่มเติมในโครงการนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ครบวงจร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
- กิจการผลิต PARTICLE BOARD ของนายสนธยา ศิริอนันตภัทร ทำการผลิตวัสดุทดแทนไม้ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมก่อสร้างและตกแต่ง กำลังการผลิตปีละประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร เงินลงทุน 1,060 ล้านบาท มีการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น มูลค่ารวม 146.9 ล้านบาท/ปี เกิดการจ้างแรงงานไทย 122 คน โดยจะทำการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 ต่างประเทศร้อยละ 20 ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการลดหย่อนภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
สำหรับในประเทศ ลูกค้าหลักของโครงการจะเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ คือ บริษัท เอสพีเอส อินดัสตรีส์ จำกัด และบริษัท ซันคาบิเนท จำกัด ส่วนต่างประเทศ บริษัท Seong Moh Chan SDN.BHD ประเทศ มาเลเซีย เป็นต้น
- กิจการประกอบรถยนต์ ของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำการประกอบรถปิคอัพ มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 116,000 คัน เงินลงทุน 11,709 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 1,560 คน ต่างชาติ (ญี่ปุ่น) 4 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ารวม 33,831 ล้านบาท/ปี โดยจะทำการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 30 ต่างประเทศร้อยละ 70 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมกิจการประกอบรถยนต์
โครงการนี้เป็นการขยายกิจการการผลิตรถปิคอัพ รุ่นใหม่ของบริษัท หรือที่เรียกว่าโครงการ 3EOO แทนรุ่น Strada รุ่นเดิมที่กำลังหมดรุ่นการผลิตในปี 2548 ทั้งนี้บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เลือกประเทศไทยให้เป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออก การลงทุนนี้จึงถือเป็นการปรับปรุงสายการผลิตเดิม ซึ่งทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 83,500 คัน/ปี เป็น 116,000 คัน/ปี
รถที่จะผลิตตามโครงการนี้มีประมาณ 200 รุ่น เป็นรถบรรทุกเล็กขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ แบบ Single Cab, Club Cad และ Double Cab ขนาด 2,500, 3,000 และ 3,200 ซีซี โดยจะเริ่มทำการผลิตประมาณเดือนสิงหาคม 2548--จบ--
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ