“ซีอีโอ ฟอรั่ม” ประสบความสำเร็จงดงาม นักลงทุนไทย-เทศ แห่ร่วมงาน ตอกย้ำศักยภาพเมืองไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 24, 2012 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--บีโอไอ ปิดฉากลงอย่างสวยงาม .. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม (บีโอไอ) จับมือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ผู้จัดงานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ หรือ “ซีอีโอ ฟอรั่ม” โชว์ศักยภาพดึงดูดนักลงทุนชาวไทย และต่างชาติ ร่วมงานคับคั่ง โดยมีแม่เหล็กของงาน “โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ— เลขาอังถัด — เลขาฯ อาเซียน” พร้อมเปิดเวทีให้ 3 ซีอีโอบริษัทชั้นนำมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ช่วยสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการลงทุน สำหรับ “การจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ หรือ CEO Forum” จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพทางธุรกิจของไทย และเสริมภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของชาวไทยและชาวต่างชาติ ในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการลงทุน โดยงานดังกล่าวได้เชิญผู้บริหารระดับสูง (CEO) จากบริษัทชั้นนำของโลกมาพบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับผู้นำภาครัฐและเอกชนของไทยเกี่ยวกับบรรยากาศ และการลงทุนในประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงรับฟังแนวนโยบายเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศไทย โดยการประชุมฯ ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำ และนักลงทุนจากทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมไม่ต่ำกว่า 500 คน โดยไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเกียรติจาก “นายโทนี่ แบลร์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้เกียรติมาร่วมปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วยนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง พูดด้วยเรื่องทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Thailand’s Economic Growth Roadmap) กล่าวย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรการฟื้นฟู ทางการเงินภาษี และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ระบุถึงแนวทาง มาตรการการฟื้นฟูและทิศทางในอนาคตของประเทศไทย ในเรื่องการหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการพัฒนาระบบราง และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังมี นายศุภชัย พาณิชภักดิ์ เลขาอังค์ถัด ร่วมเป็นองค์ปาถกฐาในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโอกาสของประเทศไทย โดยภาพรวมของการลงทุนจากต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้ม และความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต มองว่าตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จะขยาย 1.5-1.6 % โดยธุรกิจ 5 ด้านที่เป็นอนาคตของประเทศไทย คือ ด้านความมั่นคงทางด้านอาหารที่เป็นปัญหาถาวรของโลก แต่จะต้องเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอและเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจสีเขียวเพื่อลดมลภาวะและดูแลสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับในส่วนของ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ตอกย้ำในเรื่อง การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว และสิ่งที่ประเทศไทยต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นต้องไม่พึ่งพาเพียงเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่ต้องออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศด้วย บริษัทไทยจึงจำเป็นต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ปิดท้ายในช่วงการประชุมช่วงเช้า นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)์ แสดงความภาคภูมิใจและนำเสนอความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ๊กซโปที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 จากนั้นเปิดเวที 3 ซีอีโอ จากบริษัทชั้นนำ ร่วมการแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ ว่าด้วยเรื่อง กลยุทธ์สู่ความยั่งยืนเพื่อองค์กรในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ และเปิดในประเด็นดังกล่าว โดย นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานและซีอีโอ เครือซีเมนต์ไทย (เอสซีจี) บอกว่า แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นคำตอบหรือหัวใจสำคัญในการรอดพ้นจากจากวิกฤติต่างๆที่ไม่คาดคิดไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเงินที่มาจากสหรัฐในปี 2550-2551 หรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และเอสซีจีเองตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจอาเซียนภายในปี 2558 และเชื่อว่าต่อไปในอาเซียนจะถึงยุค Great ASEAN ซึ่งการจะเดินไปสู่จุดนั้น เอสซีจี ใช้แนวทางความยั่งยืน โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน ในปัจจุบัน บริษัทได้ลงทุนด้านวิจัย และพัฒนา (R&D) มากถึง 2 พันล้านบาท ด้าน นายโยชิฮิสะ ไคนุมะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มินิแบ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นมากจาก 120 เยนต่อดอลล่าร์ อยู่ที่ 76 เยน เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากต่อบริษัทส่งออกอย่างมินิแบ รวมถึงปัญหาภัยพิบัติที่สะท้อนให้เห็นว่า กำลังอยู่ในความแปรปรวนที่มาก และหนักขึ้น นายไคนูมะเห็นพ้องต้องกันว่าความยั่งยืนมีส่วนสำคัญ โดยมินิแบใช้หลัก 5+3 ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน 1.เป็นบริษัทที่ทุกคนภูมิใจได้ทำงาน 2.หารายได้และรักษาค่านิยมของบริษัท 3. ตอบรับความคาดหวังของผู้ถือหุ้น 4 เน้นความยั่งยืนเพื่อ ประชาคมรอบข้าง และ 5. สร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลก และ นายแพท ดอว์สัน ประธานภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก บริษัท ดาว เคมีคอล จำกัด ประเทศไทย กล่าว่า ความแปรปรวนในโลกมีทุกรูปแบบ และความผันผวนก็เชื่อมโยงกันทั้งหมด ดาวเคมีคอลก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเช่นกัน บริษัทจึงต้องเดินตามแนวทางและร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ แม้แต่คู่แข่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก มุ่งพัฒนาคนให้ตระหนักในเรื่องนี้ และสุดท้ายของกระประชุมฯ มร.จอห์น เอฟ คอย์น ประธานและซีอีโอ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟอันดับหนึ่งของโลก มาเล่าถึงแผนและการฟื้นฟูโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมืองไทย หลังประสบภาวะวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา และปิดฉากการประชุมฯ โดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานประชุมฯ และขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของเมืองไทย พร้อมระบุอีกว่า บีโอไอจะขยายเวลาจัดงานบีโอไอแฟร์ เพิ่มอีก 2 วัน จากเดิมวันที่ 20 ม.ค.เป็นวันที่ 22 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจ ซีอีโอ ฟอรั่ม ภายในงานบีโอไอ 2011 โดยภาพรวมของการจัดงานครั้งนี้ เป็นภาพแห่งความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาร่วมประชุมตลอดงาน พร้อมเปิดประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางอุตสาหกรรมของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติหลังอุทกภัยที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ