วิธีปฏิบัติในการขออนุญาติประกอบธุรกิจและเข้าไปทำงานในออสเตรเลียและไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2005 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดการสัมมนาเรื่อง “วิธีปฏิบัติในการขออนุญาติประกอบธุรกิจและเข้าไปทำงานในออสเตรเลียและไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย” สนับสนุนการส่งออกสินค้า สร้างโอกาสให้คนไทยไปลงทุนและทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อพัฒนาบทบาทของคนไทยในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแสดงสินค้า และการประชุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในการเปิดการสัมมนา เรื่อง “วิธีปฏิบัติในการขออนุญาติประกอบธุรกิจและเข้าไปทำงานในออสเตรเลียและไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย” ว่า “ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับว่าการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีในกรอบทวีภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้า รวมทั้งสร้างโอกาสให้คนไทยไปลงทุนและทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ออสเตรเลียเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านการส่งออกสินค้า การเข้าไปลงทุนและทำงาน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 และเป็นตลาดส่งออกสินค้าของไทยอันดับที่ 11 โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 นั้น คนไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยสามารถไปลงทุนในธุรกิจเกือบทุกประเภทในออสเตรเลียไม่วาจะเป็นธุรกิจผลิตสินค้า ธุรกิจทำเหมือง และธุรกิจบริการ โดยถือหุ้นได้ 100 % มีข้อยกเว้นในธุรกิจเพียงบางประเภท เช่น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมากๆ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเกิน 10 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (หรือ 311 ล้านบาท) ต้องได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของต่างด้าวของออสเตรเลียก่อน ซึ่งพบว่ามากกว่า 90% ของคำร้องขอประกอบธุรกิจได้รับอนุมัติ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่างประเทศของไทย”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกและพัฒนาฝีมือแรงงานไทยเพื่อไปทำงานในต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (CEP) ได้เปิดตลาดและอำนวยความสะดวกให้คนไทยเดินทางไปทำงานเป็นผู้ลงทุน ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งไปทำงานเป็นพ่อครัวและแม่ครัวในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้สะดวกขึ้น
ส่วนกรณีความตกลงการค้าเสรีไทย — นิวซีแลนด์ (CEP) ทั้งสองประเทศกำหนดให้มีการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ทางด้านการลงทุนในด้านการผลิตสินค้านั้น นิวซีแลนด์เปิดตลาดให้คนไทยลงทุนได้ 100% ในธุรกิจผลิตสินค้าทุกประเภท ขณะที่ไทยเปิดตลาดให้คนไทยลงทุนได้ 100% ในธุรกิจผลิตสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ และการแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นต้น และอนุญาตให้นักลงทุนนิวซีแลนด์ใช้บริการ ณ ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายเร่งขยายประโยชน์ที่ได้รับจากการทำ FTA ซึ่งในส่วนของการค้าบริการนั้น ในงานสัมมนาฯ นี้จะมีการประชาสัมพันธ์และรับสมัครพ่อครัวและแม่ครัวไทยที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาพ่อครัวพันธุ์ A ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 270 คน โดยจะเริ่มฝึกอบรมรุ่นแรกจำนวน 90 คน ในเดือนสิงหาคม — กันยายน ศกนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของพ่อครัวและแม่ครัวไทย และเพื่อขยายประโยชน์จาก TAFTA ที่เปิดตลาดให้คนไทยที่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ประกอบอาหารไทย มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการว่าจ้างจากธุรกิจในออสเตรเลียไปทำงานเป็นพ่อครัวและแม่ครัวได้ 4 ปี
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
นริสา ชะมุนี , สุภมาส เดชวัฒนะเดช
โทร.0-2631-2290-5 / โทรสาร. 0-2234-6192-3--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ