เตือนอ่าวไทยเสี่ยงเกิดสึนามิ เหตุรอยแยกแผ่นดินไหวเปลี่ยนทิศ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 7, 2012 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ “สมิทธ” หวั่นเมืองกาญจน์ จมบาดาล 22 เมตร เหตุสร้างเขื่อนทับรอยเลื่อนแผ่นดินไหว แนะก่อเขื่อนถนนกั้นอ่าวไทยป้องกันภัยสึนามิทะเลหนุน ชี้รัฐเฉือนเงินแค่รถไฟฟ้าหนึ่งสาย ป้องกันความสูญเสียได้ทั้งประเทศ อัดนักการเมืองล้น กยน. ดึงแก้ปัญหาน้ำช้า กระตุกนักวิชาการใน กยน. อย่าเป็นสมุนการเมือง ด้าน “ดร.ธรณ์” เปิดเส้นทางปลาทูแม่กลองเปลี่ยนทิศ หยุดฟักตัวแค่ประจวบ กระทบประมง จี้รัฐหยุดเต้นตามกระแส ควรช่วยคนเดือดร้อนจริงๆ แนะประชาชนศึกษาข้อมูลและปรับตัวรับมือภัยพิบัติ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การรับมือภัยพิบัติในอนาคต” โดยมีนักวิชาการด้านภัยพิบัติเข้าร่วมเสวนาโดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ยอมรับว่าไม่มีความหวังกับทิศทางของรัฐบาลเพราะคณะกรรมการมีนักการเมืองมากกว่านักวิชาการ ทำให้สิ้นหวัง แต่ที่น่าเสียใจกว่าคือนักวิชาการประพฤติตัวเป็นนักการเมือง ซึ่งเมื่อเราไปตำหนิในสิ่งที่นักการเมืองทำไม่ถูกต้องก็จะถูกนักวิชาการที่ผันตัวเป็นนักการเมืองออกมาปกป้องนักการเมืองเหล่านี้ แต่ตนก็ขอไม่พูดดีกว่า พูดมากก็โดนด่า จะลาออกก็ไม่ให้ออก เรียกว่าทำได้แต่อย่าตำหนิรัฐบาล ทั้งนี้ ดร.สมิทธยังกล่าวถึงการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กยน. ว่าเป็นข้อเสนอและแนวทางที่ทำได้ ปัญหาคืองบประมาณที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติงบประมาณจากรัฐสภา ตนจึงพูดอะไรไม่ได้มาก อีกทั้งยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ทั้งนี้ไม่ว่าปีนี้จะมีมรสุมหรือไม่ก็คงหนีไม่พ้นอุทกภัยแน่นอน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่น่าวิตกเท่ากับปัญหารอยเลื่อนที่กาญจนบุรี และที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใต้เขื่อนศรีนครินทร์ รอยเลื่อนดังกล่าวเชื่อมต่อกับรอยเลื่อนใหญ่ในพม่า ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่า 7 ริคเตอร์ จะทำให้เขื่อนศรีนครินทร์ที่จุน้ำ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แตก นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วม จ.กาญจนบุรี สูงถึง 22 เมตร และจะกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วตามฝั่งตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดเมื่อใดคงบอกไม่ได้ แต่จากการคำนวณทางวิทยาศาสตร์มีโอกาสเกิดได้ และได้เตือนหลายฝ่ายให้หาแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องรับผิดชอบ เคยเสนอให้มีการจัดทำสัญญาณเตือนภัย หากเกิดกรณีสุ่มเสี่ยงเขื่อนแตก และเตรียมซักซ้อมแผนอพยพชาวบ้านที่อยู่รอบเขื่อน แต่ไม่เคยได้รับการสนใจจากหน่วยงานใด ดังนั้น เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่จะต้องช่วยกันจับตาดู “นักการเมืองมัวแต่สร้างสนามกอล์ฟ ติดเขื่อน แต่กลับไม่สนใจชีวิตชาวบ้าน และที่เป็นห่วงอีกเรื่องคือปัญหาภัยแล้ง ในปีหน้าหากเร่งระบายน้ำ และน้ำทะเลจะหนุนสูงไปถึง จ.อยุธยา จ.ปทุมธานี และอาจจะล้นเข้าสู่ระบบคลองประปาทำให้น้ำประปาที่ใช้เค็ม ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเกิดความอลหม่าน เพราะคนเมืองไม่สามารถจัดการตนเองได้” ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าว ดร.สมิทธ ยังได้แสดงความกังวลถึงปัญหารอยเลื่อนที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนเข้าหารอยเลื่อนยูเรเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทย เวียดนาม และลาว และอาจจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริคเตอร์ขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิไม่ต่ำกว่า 3 เมตรในอ่าวไทย ส่งผลกระทบตั้งแต่ จ.นราธิวาส ไล่ขึ้นมาจนถึงจ.ชลบุรี ซึ่งเรื่องนี้เคยเสนอแผนป้องกันต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ด้วยการสร้างเขื่อนถนนจากอ.บางปะกง จนถึง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ยาว 97 กิโลเมตร ปิดปากอ่าวไทย เพื่อป้องกันคลื่นสึนามิ และผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ขณะเดียวกันยังช่วยร่นระยะการเดินทางจากภาคใต้มาสู่ภาคตะวันออก โดยใช้งบประมาณเพียง 1.3 แสนล้านบาท หรือเท่ากับโครงการรถไฟฟ้า 1 สาย ประธานสภามูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์สร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำท่วม เพราะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ จึงอยากเสนอให้มีการย้ายนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ไปอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ซึ่งมีระบบขนส่งที่ดี คือเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและประเทศลาวได้ และทั้งสองประเทศยินดีจะสร้างถนนมาเชื่อมต่อที่จ.อุบลราชธานี โดยค่าใช้จ่ายการย้ายนิคมก็ถูกกว่าการสร้างเขื่อนล้อมรอบนิคมและยังมีเงินเหลือไปพัฒนาสนามบิน จ.อุบลราชธานี ให้กลายเป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ ทำให้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ด้าน ดร.เสรี ศุภาราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการ กยน. กล่าวว่า หัวใจของการรับมือกับภัยพิบัติอยู่ที่ประชาชนและท้องถิ่น เพราะหากท้องถิ่นและประชาชนไม่พร้อมจะไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เราจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม ถูกต้อง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติได้ ทั้งนี้ประเทศไทยโชคดีที่มีกฎหมายที่ดีหลายฉบับ แต่กฎหมายหลายฉบับนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เพราะถ้าท้องถิ่นดูแลตนเองได้ด้วยอำนาจกฎหมายเต็มที่ จะสามารถรับมือและจัดการด้านภัยพิบัติได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิตและคณะกรรมการ กยน. กล่าวว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานดีๆ ในการป้องกันพิบัติหลายแห่ง แต่ไม่มีใครติดตามดูว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำงานดีจริงหรือไม่ หรือทำตามหน้าทีที่ได้รับมอบหมายหรือหรือไม่ อีกทั้งในส่วนของผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับท้องที่ตนเองให้มาก เพราะหลายจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่รู้ข้อมูลของถนน หรือจำนวนคลอง ชื่อคลองในพื้นที่ของตนเอง จึงทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก ซึ่งปัญหานี้จะเชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่ เพราะเมื่อผู้นำท้องถิ่นไม่ทราบข้อมูลก็จะไม่สามารถประสานการช่วยเหลือให้กับท้องที่ตนเองและท้องที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ “ขณะนี้มีความกังวลในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะการตั้งคำถามว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ซึ่งความจริงสิ่งสำคัญมกกว่าตั้งคำถาม คือการป้องกันและการรับมือกับปัญหาระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้หลายฝ่ายกังวลเรื่องน้ำท่วมจนทำให้ระบายน้ำออกมาปริมาณมาก โดยไม่คำนึงถึงภัยแล้งที่จะตามมา จึงกังวลว่าหากปล่อยน้ำเช่นนี้ น้ำอาจไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร เนื่องจากเราต้องประสบปัญหาลาณิญญ่าถึงกลางปีพฤษภาคม และปัญหาเอลนิญโญ่ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งถึงกลางปี 2555” ดร.เสรี กล่าว ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือปัญหาปลายน้ำ ซึ่งคือทะเลไม่ใช่กรุงเทพฯ การเร่งระบายน้ำให้ลงทะเลอย่างรวดเร็วนั้นจะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในอ่าวไทยเปลี่ยนแปลง และกระทบต่อระบบนิเวศในอ่าวไทยอย่างรุนแรง แม้ว่าจะไม่กระทบต่อสัตว์น้ำมากเท่าไร เพราะหากนิเวศเปลี่ยนไป สัตว์น้ำเช่น ปลาทู ก็จะอพยพย้ายถิ่นไปหาระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากกว่า แต่คนที่เดือดร้อนก็คือเกษตรกร ชาวประมง ที่เป็นประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลาเลี้ยงหอยตามชายฝั่ง คนพวกนี้คงไม่รู้จะทำมาหากินอะไร “จากกรณีมีการผันน้ำมาก ทำให้ระบบนิเวศเสีย ทำให้น้ำจึดไหลลงสู่ทะเลมาก เช่นในแถบแม่กลอง ทำให้ปลาทูที่เคยขึ้นมาโตเต็มที่ไม่ว่ายขึ้นมาที่แม่กลอง แต่จะหยุดที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของสัตว์ แต่คนที่ได้รับผลกระทบจริงคือเกษตรกรชายฝั่ง ซึ่งรัฐควรเข้ามาดูแลจัดการ ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาตามกลุ่มคนที่มาร้องแรกแหก เชอ แต่ไม่ได้เดือดร้อนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ควรไปช่วยคนเหล่านี้ที่ไม่มีทางสู้จริงๆ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การเร่งระบายน้ำในปี 2554 ทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ต้องนึกถึงคนที่อยู่ปลายน้ำจริงๆ แต่อย่างไรก็ตามตนก็ไม่เชื่อว่าเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นมาอีกครั้ง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการบริหารจัดการปลายน้ำอย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน พวกเราเองที่จะต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติโดยการพึ่งตนเองให้ได้ อย่าฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลและการเมือง เพราะไม่เชื่อว่าปัญหาจะแก้ได้แต่จะต้องปรับพฤติกรรมให้อยู่กับน้ำท่วมให้ได้ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ หัวหน้าโครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี กล่าวว่า การรับมือภัยพิบัติ ก่อนอื่นเราต้องมีข้อมูล เพราะเมื่อเกิดภัยเราไม่สามารถเปิดตำรากางได้ ว่าภัยชนิดนี้ต้องมีกระบวนการรับมืออย่างไร แต่เราต้องมีข้อมูลในหัวเพื่อประเมินสถานการณ์เอง อย่างไรก็ตาม อยากให้แต่ละฝ่ายน้ำข้อมูลองค์ความรู้จากหลายองค์กรมารวมกัน เช่น ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำ ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว โดยอาจใช้สีเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งขณะนี้ตนก็กำลังสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในภาคใต้อย่าง www.pbwatch.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ