แนะเลือกใช้ยางรถเหมาะสม ช่วยป้องกันรถลื่นไถลช่วงหน้าฝน

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2005 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึง สาเหตุสำคัญของการเกิด อุบัติเหตุทางถนนในช่วงฤดูฝน ได้แก่ รถลื่นไถล ซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำฝนที่เจิ่งนองบนพื้นถนน และสิ่งสกปรกบนท้องถนน เช่น เศษดินโคลน คราบน้ำมัน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวลดแรงเสียดทาน ระหว่างพื้นถนนกับยาง ในปัจจุบันบริษัท ผู้ผลิตยางรถยนต์ได้ออกแบบลวดลายยางให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้เลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม ดังนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนน จึงต้องเลือกใช้ประเภทยางให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานและลักษณะของรถ โดยยางรถยนต์ที่สามารถ ใช้งานได้อย่างปลอดภัยในช่วงฤดูฝน ประกอบด้วย 1.) ซัมเมอร์ ไทร์ (Summer Tyres) เป็นยางที่มีประสิทธิภาพสูงในการขับขี่ และการเบรก ทั้งในสภาพถนนที่แห้งและเปียก เพราะพื้นยางอยู่ในรูปแบบ บล็อก เชป จึงช่วยเพิ่มความฝืดระหว่าง รถยนต์และพื้นถนน ทำให้ควบคุมพวงมาลัยขณะขับผ่านบริเวณถนนเปียกได้ง่ายขึ้น รถทรงตัวดีขึ้น ไม่ลื่นไถล โดยดอกยางจะช่วยไล่น้ำ โดยยางประเภทนี้ เหมาะกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2.) แอชซิมเมทริค แพทเทิร์น (Asymmetric pattern) เป็นยางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเกาะถนนในพื้นที่ปกติได้ดี หากต้องขับรถลุยน้ำ ก็สามารถรีดน้ำได้ดีเช่นกัน และยังมีความเหมาะสมกับรถที่ใช้งานในเส้นทางที่มีโค้งมาก และใช้ความเร็วสูง จึงเหมาะกับรถที่มีสมรรถนะสูง 3.) ไดเร็กชั่นแนล แพทเทิร์น (Directional pattern) เป็นยางที่มีประสิทธิภาพสูงในการรีดน้ำ ทำให้รถสามารถทรงตัวได้ดีในกรณีที่มีน้ำขัง เหมาะกับรถยนต์ที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง
นายสุนทร กล่าวแนะต่อไปว่า สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์บางท่าน อาจเห็นว่าการเปลี่ยนยางรถยนต์ให้ เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละฤดูนั้น เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยมาก ดังนั้น การเลือกใช้ยางรถยนต์ที่เหมาะกับสภาพถนนใน ทุกฤดู ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ออล เทอร์เรน แพทเทิร์น (All Terrain Pattern) ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานตลอดทั้งปีได้อย่างเหมาะสม แต่ประสิทธิภาพ และความสามารถในการใช้งานอาจจะสู้ยางที่ออกแบบมาโดยเฉพาะไม่ได้ และยังมีข้อเสีย ในด้านการมีเสียงดังรบกวนมากกว่ายางชนิดอื่น สุดท้ายนี้ หากท่านเจ้าของรถเลือกใช้ยาง อย่างเหมาะสม และดูแลเอาใจใส่รถเป็นอย่างดีในทุกรายละเอียด การขับรถทั้งในขณะฝนตกพรำๆ หรือตกหนักรุนแรง เพียงใด ก็สามารถขับรถฝ่าสายฝนได้อย่างปลอดภัย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ