ภาพข่าวTUTG เปิดตัว Facebook/Tunnelthailand และ Twitter/Tunnelthailand ชวนคุยเรื่องน่ารู้อุโมงค์เพื่อชีวิต และอัพเดทสีสันงานประชุมอุโมงค์โลก2012

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2012 10:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 (WORLD TUNNEL CONGRESS 2012) พร้อมคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) เปิดตัวนิวมีเดียชุมชนคนออนไลน์ www.facebook.com/tunnelthailand และ www.twitter.com/tunnelthailand เปิดมุมมองต่องานก่อสร้างใต้ดินและชวนคุยเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิศวกรรมอุโมงค์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมวลมนุษย์ รักษาสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ชุมชนเมืองและผู้อยู่อาศัยจากภัยพิบัติธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยมากขึ้น รวมถึงเผยแพร่ข่าวสารความเคลื่อนไหวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในวันที่ 18-23 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งนับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่เสมือนโอลิมปิคแห่งวงการวิศวกรรมก่อสร้างโลก และจะมีผู้เชี่ยวชาญจากกว่า 60 ประเทศเดินทางมาร่วมงาน มนุษย์รู้จักการสร้างอุโมงค์มานานนับแต่ยุคโบราณในดินแดนตุรกี อาณาจักรเปอร์เซีย อาณาจักโรมันและพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่องมาถึงโลกวันนี้ทั้งด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม การออกแบบและการใช้งานที่หลากหลาย เช่น อุโมงค์ถนนใต้ดินสำหรับรถยนต์, อุโมงค์รถไฟ, อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน, อุโมงค์สาธารณูปโภค, อุโมงค์ส่งน้ำประปา, อุโมงค์ระบบป้องกันน้ำท่วม, อุโมงค์สายไฟฟ้าแรงสูง, อุโมงค์ขนส่งพลังงาน, อาคารที่อยู่อาศัยใต้ดิน, ห้างสรรพสินค้าใต้ดิน, สนามกีฬาใต้ดิน จนถึงเป็นที่หลบภัยของประชาชนในยามเผชิญภัยพิบัติและภาวะสงครามอีกด้วย ในประเทศไทย อุโมงค์ขุนตาลนับเป็นอุโมงค์แห่งแรกของประเทศไทยซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันสหประชาชาติและนานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์เพื่อคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากความแออัดของระบบคมนาคม โลจิสติกส์ สาธารณูปโภคและสิ่งปลูกสร้างบนผิวดิน ตลอดจนป้องกันน้ำท่วมและลดความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ การใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์จึงเป็นทางเลือกที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณงานก่อสร้างอุโมงค์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จนกล่าวได้ว่าศตวรรษที่ 21 นี้เป็นศตวรรษของงานพัฒนาพื้นใต้ดินเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของมวลมนุษยชาติ ประเทศไทยโดยคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ (ITA) ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิชาการนานาชาติที่ให้คำปรึกษาแก่สหประชาชาติ และมีสมาชิกกว่า 65 ประเทศทั่วโลกได้ประสานความร่วมมือพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและสร้างเสริมความมั่นคงปลอดภัยแก่สังคมโลก บุคคลในภาพ (จากซ้ายไปขวา) 1. นายกิตติ เอกวัลลภ เลขานุการคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 2. ผศ.ดร.ธนาดล คงสมบูรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 3. ดร.วรนิติ ช่อวิเชียร คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 4. นางสาวสุจิตรา อินทรแหยม ผู้ประสานงานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 5. รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 และ ประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 6. รศ.ดร.นพดล เพียรเวช ที่ปรึกษาคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 7. ดร.อภิชาติ สระมูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 8. ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล รองประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) 9. ดร.ธีรธร ธาราไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ