สวทน. จัดสัมมนา ชูแนวคิด “Green Innovation” สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศตามแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติฉบับประวัติศาสตร์

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2012 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--สวทน. สวทน. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) โดยตั้งยุทธศาสตร์หลักคือการส่งเสริมให้นวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดความสมดุลและการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการใช้ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ร่วมเสวนาแนวคิด “Green Innovation สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ“นวัตกรรมเขียวสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้แก่ ศ.ดร.เซิร์ซ ทิชเกียวิช ประธานเครือข่ายเชี่ยวชาญเพื่องานวิจัยด้านการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรมแห่งสหภาพยุโรป ศ.ดร.ยง โอ๊ค อัน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทซัมซุง กรุ๊ป ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ศ.ดร. มู รองปิง ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารจัดการนโยบาย Chinese Academy of Sciences (CAS) ประเทศจีน และ ดร.เดวิด เดนท์ ประธานบริษัทเดนท์ แอสโซซิเอท จำกัด ประเทศอังกฤษ มาเป็นวิทยากรเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากมุมมองต่างประเทศถึงการนำยุทธศาสตร์นวัตกรรมเขียวหรือ Green Innovation มาเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศของตนให้ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า “การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโลก ทำให้ผู้ผลิตไทยจะต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้เชิงเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทั้งนี้ภายใต้ภาวะแวดล้อมดังกล่าวที่เปรียบเสมือนกำแพงเงื่อนไขทางธุรกิจนั้น วทน. จะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับให้ภาคเอกชนไทยก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเพื่อไปพบโอกาสใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องแนวโน้มโลก และการถอดบทเรียนด้านการพัฒนาประเทศจากผู้เชี่ยวชาญจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาของประเทศไทย ดังนั้นการจัดสัมมนาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมเขียวจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและเพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์นวัตกรรมเขียวกับการขับเคลื่อนแผน วทน.สู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” การสัมมนา “นวัตกรรมเขียวสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ครั้งนี้จัดขึ้น 1 วันเต็ม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายในภาครัฐ การบริหารจัดการในภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทั้งสี่ท่าน จากสี่ประเทศซึ่งทุกท่านล้วนมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศจากยุคหนึ่ง สู่อีกยุคหนึ่ง ซึ่งแต่ละก้าวย่างการเปลี่ยนผ่านของประเทศจะมีปัจจัยความท้าทายภายในและภายนอกที่แตกต่างกัน “ขณะนี้ สวทน.กำลังดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาด้าน วทน.ของประเทศคือการมุ่งเน้นการก้าวย่างสู่“นวัตกรรมเขียว เพื่อสังคมดีมีคุณภาพและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ” เพื่อพัฒนาให้ประเทศมุ่งสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสมดุล การจัดการเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการออกแบบแนวทางรับมือและฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์ภัยพิบัติด้วยมาตรการเขียว ซึ่งนอกจากแนวยุทธศาสตร์นวัตกรรมเขียวจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้าสู่กลไกการพัฒนาที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีการนำแนวนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา การพัฒนานวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ การพัฒนากำลังคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อด้าน วทน. อีกด้วย” เลขาธิการ สวทน. กล่าว ศ.ดร.ยง โอ๊ค อัน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซัมซุงกรุ๊ป ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้ความสำคัญต่อนโยบาย “Green Growth” เป็นอย่างมาก รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อลดการปล่อยของเสีย (Emissions) จากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากโรงงานผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานถลุงเหล็ก เป็นต้น และตั้งกฎระเบียบออกมาอีกมากมายเพื่อควบคุมการปล่อยของเสียดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้การพัฒนาประเทศจากเกาหลียุคก่อน สู่เกาหลียุคใหม่ ได้เริ่มขึ้นในสมัยการปกครองของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ค จุง ฮี ในปีพ.ศ. 2513 โดยงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.38 (ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ International Institute for Management Development (IMD) ได้ตั้งไว้ ดังนั้นอดีตประธานาธิบดีฯ จึงมีวิสัยทัศน์ว่าประเทศจำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และได้จัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศเกาหลี (Korea Institute of Science and Technology : KIST) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มจำนวนงานวิจัยและการพัฒนาที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตกำลังคนระดับนักวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เกิดนโยบายระดมกำลังสมองคืนถิ่น (Counter Brain Drain) ซึ่งหมายถึงการต้อนรับนักวิจัยเกาหลีที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคทั่วโลกให้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองของตน เป็นผลให้เกิดการตื่นตัวทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และทำให้อัตราการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นตามมาเป็นลำดับจนขณะนี้อยู่ที่อัตราร้อยละ 4 ต่อ GDP ซึ่ง GDP ของประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2513 มาอยู่ที่ประมาณ 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน” ในส่วนของแผน วทน.แห่งชาติฉบับที่ 1 ของประเทศไทยได้บรรจุสาระสำคัญเรื่องการเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันคือร้อยละ 0.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นร้อยละ 1 เพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนจากร้อยละ 40 ต่อภาครัฐ เป็นร้อยละ 70 ต่อภาครัฐ และพัฒนากำลังคนระดับนักวิจัยให้เพิ่มขึ้นจาก 9 คนต่อประชากร 10,000 คน เป็น 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี โดยกรอบแนวคิดด้านนวัตกรรมเขียวจะเป็นยุทธศาสตร์หลักในการประยุกต์ใช้กับการพัฒนาในทุกมิติ ทางด้าน ศ.ดร. มู รองปิง ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารจัดการนโยบาย Chinese Academy of Sciences (CAS) ประเทศจีน กล่าวว่า “ในขณะนี้ประเทศจีนนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลก โดยประเทศมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่าน ซึ่งยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและระดับรายได้ประชากร ดังนั้นการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างการเติบโต กับความยั่งยืนและมีเสถียรภาพเป็นสิ่งที่ท้าทายประเทศจีนอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับนโยบายหลักเรื่องหนึ่งของประเทศคือเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อการเติบโตสีเขียวในประเทศจีน” ทั้งนี้ได้บรรจุไว้เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนานวัตกรรม 2020 ที่ Chinese Academy of Sciences ได้นำเสนอและได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภาแห่งรัฐ (State Council) เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดีเนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ มีจำนวนประชากรมหาศาล การออกแบบนโยบายเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด “Green Innovation” เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดการปล่อยของเสียให้น้อยลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความตระหนักให้กับภาคประชาชน เป็นต้น” ด้าน ศ.ดร.เซิร์ซ ทิชเกียวิช ประธานเครือข่ายเชี่ยวชาญเพื่องานวิจัยด้านการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรมแห่งสหภาพยุโรป เผยว่า “ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนคือการพัฒนากำลังคนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่งการสร้างความตระหนักเรื่องนวัตกรรมเขียวจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยปกติเมื่อมีการกล่าวถึง “Green Innovation” ประชาชนทั่วไปมักคิดถึงภาคการผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้วนโยบายของภาครัฐมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชนของประเทศต่อแนวคิดนี้ด้วย เป็นที่เข้าใจกันดีในปัจจุบันว่านวัตกรรมถูกใช้เป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในโลกยุคใหม่ ทั้งนี้นอกจากนวัตกรรมจะเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์แล้ว ยังเกิดจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ด้วย ดังนั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนรุ่นต่อไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ภาครัฐควรส่งเสริมคือการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงทางด้านพื้นฐานของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย เข้าใจข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และแนวคิดเรื่องนวัตกรรมเขียวจำเป็นต้องบรรจุอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มิใช่เพียงศึกษาในระดับชั้นต้นแล้วจบไป เพื่อที่เราจะได้เยาวชนที่เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นนักนวัตกรรมคุณภาพที่มีจิตสำนึก และมีความกระตือรือร้นในการศึกษาค้นคว้าตลอดชีวิต” ดร.เดวิด เดนท์ ประธานบริษัทเดนท์ แอสโซซิเอท จำกัด ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “แนวความคิดเรื่องการใช้กลไกนวัตกรรมนำเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับการยอมรับในระดับสากล ประเทศอังกฤษมีความตื่นตัวอย่างสูงต่อผลิตภัณฑ์สีเขียว(Green Product) หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันผู้ผลิตทั่วโลกมองเห็นโอกาสจากจากตลาดกลุ่มนี้ ซึ่งแนวโน้มตลาดในยุคต่อไปจะเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เพียงแต่ปรับรูปลักษณ์สินค้าให้มีความโดดเด่นด้วยเทคโนโลยี หรือด้วยภาพลักษณ์ที่สวยงามดึงดูดความสนใจ มีคุณสมบัติการใช้งานที่ครบครัน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02 160 5432 ต่อ 503 (กมลีพร), 086 303 1522 (อทิตยา)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ