มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับวิจัย-หลักสูตร เทียบชั้นสากล ปูทางสู่ “มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกเพื่อสังคม”

ข่าวทั่วไป Wednesday February 22, 2012 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สยามเมนทิส “มหิดล” เตรียมรับมือประชาคมอาเซียนปี 58 ปรับใหญ่ยกระดับหลักสูตร งานวิจัยเทียบชั้นสากล ผุดหลักสูตร Dual Degree สหสาขาวิชา มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม เน้นงานวิจัยตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพระดับโลกและเพิ่่่มคุณค่าให้แก่สังคมไทย พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาคด้านวิชาการ หลังจากเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคนใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ได้ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและสังคม โดยมุ่งเน้นที่การยกระดับงานวิจัยและหลักสูตรการเรียนการสอน ให้มีความเป็นสากลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนทั้งในระดับโลก ประเทศและชุมชน ควบคู่ไปด้วยกันภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกเพื่อสังคม” ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดการอุบัติขึ้นของโรคใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ฯลฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับ 1 ของไทย จึงเห็นควรที่จะต้องเพิ่มบทบาทในการใช้องค์ความรู้และศักยภาพของมหาวิทยาลัย ในการแก้ไขปัญหาสังคมให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ควบคู่กันระหว่างการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ “เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข” พัฒนาบุคลากรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนการยกระดับงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประชาคมโลก “การที่เราบอกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ไม่ได้หมายถึงการที่เรามองแค่ตัวเอง แต่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก นั้นจะช่วยให้เรามีเครือข่ายในระดับโลกที่จะสามารถต่อยอดความรู้ ความสามารถที่เรามี ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้มากขึ้น องค์ความรู้บางอย่างอาจจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่การจะมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยหรือสังคมเอเชีย จำเป็นที่เราต้องพัฒนาองค์ความรู้เหล่านั้นด้วยตัวเอง” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัย EGAT Study ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนไทย ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวที่ใหญ่และยาวนานที่สุดในประเทศไทย โดยการติดตามประชากรพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 9,084 คน นาน 26 ปี การศึกษาค้นพบว่าไขมัน LDL และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่วงการแพทย์ตะวันตกใช้พยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบเส้นเลือดหัวใจนั้น ไม่สามารถใช้พยากรณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างแม่นยำ เมื่อนำมาใช้กับคนไทยและคนเอเชีย โดยจากงานวิจัย EGAT Study ค้นพบว่า ปริมาณไขมัน HDL และความยาวของเส้นรอบเอวนั้น สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำกว่า งานวิจัยดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการวิจัยในบริบทเฉพาะของสังคมไทย ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สังคม (Mahidol University Social Responsibility: MUSR) ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกเพื่อสังคม” มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ในระหว่างปี 2554-2558 โดยมุ่งเน้นทั้งการยกระดับงานวิจัย พัฒนาบุคลากรนักวิจัย ที่จะตอบโจทย์ปัญหาสังคมให้ได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มความเข้มแข็งในการสร้างเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยในการบูรณาการความรู้ในลักษณะสหสาขาวิชา โดยเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภาคเอกชนและชุมชน ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเป็นสากล อาทิ หลักสูตร Dual Degree หลักสูตรสหสาชาวิชา เป็นต้น “เรามองว่าเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2558 ซึ่งจะมีการขนส่งสินค้าปลอดภาษี และการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อย่างไร้พรมแดน ถือเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยในการสร้างพันธมิตรเครือข่าย สามารถยกระดับงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาคทางวิชาการ (Academic Medical Hub) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาค (Service Hub) ที่มีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาล โดยดำเนินการให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้อย่างทั่วถึงกัน เราหวังอย่างยิ่งว่าการก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกของเราจะช่วยสร้างประโยชน์ให้เพื่อนร่วมสังคมทั้งในระดับโลก ประเทศ และชุมชนให้เข้มแข็ง และยั่งยืนขึ้น” ศ.นพ.รัชตะ กล่าวในที่สุด ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : บริษัท สยามเมนทิส จำกัด โทร. 0-2633-9950 (ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ