เปิดใจ “สุภาณี มะหมีน” ครูสอนดีของเด็กด้อยโอกาส

ข่าวทั่วไป Thursday February 23, 2012 13:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์ “เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่น่ารัก แล้วเขาก็เป็นคนดีคนหนึ่งที่สังคมอาจจะมองข้ามไป ถ้าเรานำเด็กกลุ่มนี้มาอยู่รวมกัน แล้วสร้างกิจกรรมที่ดีๆ ให้กับเขา สอนทักษะชีวิต สอนให้เขาคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เชื่อว่าเขาจะสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ แต่ถ้าไม่มีใครยอมรับเขา ไม่ให้โอกาสเขา พวกเขาจะไปอยู่ตรงไหน” เป็นแนวคิดในการทำงานของ “สุภาณี มะหมีน” หรือ “ครูไหม” ว่าที่ครูสอนดีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับ “ทุนครูสอนดี” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อมุ่งปฏิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ด้วยการเชิดชูยกย่อง และมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ “โดยพื้นฐานเขาไม่ได้เป็นเด็กเกเรก้าวร้าว แต่ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากการขาดความเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ประกอบกับความอยากรู้อยากเห็น อยากลองในตัวของเขาเอง พอผิดพลาดขึ้นมาเพียงครั้งเดียวสังคมก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ เขาจึงไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร” ข้างต้นเป็นคำอธิบายจาก “ครูไหม” ถึงสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนกว่า 100 ชีวิตจาก 19 ชุมชนในพื้นที่ต้องออกจากการศึกษาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการขาดโอกาสทางการศึกษา ความบกพร่องทางร่างกาย-สติปัญญา ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนและยาเสพติด ที่ถูกเธอชักชวนติดตามให้กลับมาสู่ระบบการศึกษาแบบเปิดกว้างที่ กศน.เขานิเวศน์ จังหวัดระนอง หลังเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ เอกการศึกษาชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) “ครูไหม” ก็เริ่มต้นวิชาชีพครูในโรงเรียนปอเนาะที่จังหวัดปัตตานีอยู่ 3 ปี หลังจากนั้นก็ย้ายมาทำงานที่จังหวัดระนองตามครอบครัว เริ่มด้วยการเป็นครูสอนเด็กชาวเลบนเกาะเหลา ราว 1 ปี แล้วจึงมาเป็นครูประจำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนฯ โดยมีศาลาประจำหมู่บ้านและศาลาวัดเป็นห้องเรียน มีหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนจนผลักดันให้ลูกศิษย์ในชุมชนที่มีอายุคราวลุงป้าน้าอาที่ยังใฝ่เรียนรู้จนจบการศึกษาตามมุ่งหวังไปหลายรุ่น เป็นผู้บริหารทำงานในระดับท้องถิ่นไปก็หลายคน และได้เห็นว่าในท้องถิ่นของตนเองมีวัยรุ่นจำนวนมากที่ต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากปัญหาสังคมต่างๆ จึงเริ่มชักชวนเด็กกลุ่มนี้ผ่านเพื่อนฝูงและผู้ปกครองให้ส่งเด็กเข้ามาเรียนต่อที่ กศน. โดยเน้นการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบผสมผสานให้เหมาะสมกับกับผู้เรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะสอดแทรกความรู้พื้นฐานที่จำเป็นควบคู่ไปกับทักษะในด้านการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ผ่านทาง Facebook เพื่อชักชวนให้มาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อชุมชนและท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างจิตอาสาทำให้สังคมยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวของเด็ก น.ส.ชมเพลิน ศิริทรัพย์โภคา หรือ “พี่ต้อ” ศิษย์เก่าวัย 41 ปี ของน้องๆ นักเรียน กศน. ที่มีจิตอาสามาช่วยในกิจกรมต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเล่าให้ฟังว่า การเรียนการสอนของครูไหมนั้นจะมีลักษณะเป็นเหมือนเป็นครู เป็นเพื่อน และเป็นพี่เลี้ยงไปพร้อมๆ กัน “ที่สำคัญก็คือครูไหมมีความเอาใจใส่กับนักเรียนทุกคนไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ใช่แค่เพียงในชั่วโมงการเรียนการสอนเท่านั้น หลังเลิกเรียนยังติดตามไปดูแลถึงบ้านด้วยความเป็นห่วง และเป็นครูที่ประหลาดเพราะคอยจู้จี้ ติดตาม ย้ำเตือนเราตลอด ทำให้ทุกวันนี้เวลาที่จัดงานหรือกิจกรรมอะไรก็จะมีศิษย์เก่าทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่มาช่วยกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ” พี่ต้อกล่าว ศิษย์รุ่นปัจจุบันอย่าง นางจันทร์เพ็ญ รสสุคนธ์ วัย 35 ปีหรือ “ป้าเพ็ญ” หัวหน้านักเรียน กศน.ชั้นมัธยมปลายเล่าถึงความเอาใจใส่ของครูไหมกับเด็กๆ ว่า “ครูไหมจะมีความเป็นกันเองมากกับเด็กทุกคน คอยให้คำแนะนำทั้งเรื่องเรียนและปัญหาส่วนตัว และพยายามพาเด็กให้เข้าร่วมทำกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอมีทั้งการโทรศัพท์ตามและก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปตามถึงที่บ้าน” นางนิตยา เสวกรบุตร ผู้ปกครองของ “น้องหญิง” นางสาวสุธาสินี เสวกรบุตร นักกีฬาปิงปองทีมชาติที่เคยคว้ารางวัลในระดับโลกมาหลายรางวัล เล่าให้ฟังว่าน้องหญิงต้องซ้อมหนักทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนจึงต้องหันมาเรียนที่ กศน. เพราะจะทำให้มีเวลาฝึกซ้อมมากขึ้น “ครูไหมเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นกันเอง เด็กๆ จะติดครูไหมมาก และพอได้มาเห็นนักเรียนของครูไหม ก็ทำให้รู้และบอกลูกว่าเพื่อนกลุ่มนี้คบได้ แต่ขอให้คบแต่ส่วนดี เพราะทุกคนมีส่วนดีทั้งนั้น และส่วนที่ไม่ดีของเขาเราก็เอามาเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นๆ ได้” นางนิตยากล่าว ด้านครูจิตอาสาอย่าง “พี่แหม่ม” หรือ นายก้องรัชจ์ จงเจริญ เจ้าของธุรกิจร้านจัดดอกไม้ในจังหวัดระนองบอกว่า ในสมัยเรียนตนเองก็เป็นนักกิจกรรม พอได้มารู้จักครูไหมซึ่งก็เป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน แล้วก็เป็นคนที่มีจิตใจดีทำทุกอย่างเพื่อเด็กและสังคมจึงอาสาเข้ามาช่วยทำงาน “การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องทำให้เขาปรับเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิตโดยสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าเราช่วยให้เขาได้แสดงออกถึงความสามารถที่มีอยู่ไปในทางที่ถูกต้อง ก็จะก่อให้เกิดสังคมใหม่ที่ดีขึ้นสำหรับเด็กกลุ่มนี้ และเกิดเป็นเครือข่ายของเด็กที่มีจิตอาสาในการทำงานเพื่อสังคมและชุมชน” พี่แหม่มระบุ “ทำงานตรงนี้ถึงแม้เงินเดือนน้อย ไหนจะค่ามือถือโทรตามเด็ก ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ค่าน้ำมันรถ ค่ากิจกรรม บางครั้งเราต้องนำเงินส่วนตัวออกมาใช้จ่ายก่อน แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเรารู้จักความพอเพียงเราก็อยู่ได้ แต่เมื่อเราทำแล้วมีความสุข ทำแล้วเด็กสบายใจ ทำแล้วเด็กเกิดความรู้สึกดีๆ ผลสุดท้ายคือได้เห็นเขาเป็นคนดีในสังคม” ครูไหมกล่าว ถึงวันนี้ “ครูไหม” จะเป็นเพียง “พนักงานราชการ” ที่ไม่ได้มีสิทธิ์และสวัสดิการเหมือนกับครูคนอื่นๆ ในระบบราชการ แต่ยังคงเสียสละทุ่มเทดูแลลูกศิษย์รุ่นใหม่ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ที่ไม่เอื้อต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคน บางครั้งคิดว่าอยากจะไปทำงานอื่นที่มั่นคง แต่เมื่อเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา ความเป็นครูในหัวใจที่อยากให้ทุกคนได้สำเร็จการศึกษาวิชาชีวิตออกไปเป็นคนดีของสังคมก็เป็นพลังใจในการมุ่งมั่นทำงานต่อ “ เราไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวเด็กกลุ่มนี้มาก แค่อยากให้สังคมยอมรับเขา และให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข อยู่ตรงไหนก็ได้ ใช้ชีวิตเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่นอย่างมีความสุข และมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม มีน้ำใจ มีความสามัคคี เท่านี้ก็เรามีความสุขจนยากที่จะบอกเป็นคำพูดได้แล้ว” ว่าที่ครูสอนดีกล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ