สธ. ชี้ ร้อยละ75 ของโรคอุบัติใหม่ที่อันตรายต่อคนมาจากสัตว์ จับมือหน่วยงานร่วม-เตรียมพร้อมรับมือหากโรคเกิดการระบาดจัดอบรมเสริมศักยภาพทีมพี่เลี้ยงตามแนวคิด “One Health”

ข่าวทั่วไป Friday February 24, 2012 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กรมควบคุมโรค นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันร้อยละ 60 ของโรคติดเชื้อในมนุษย์มาจากสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า และร้อยละ75 ของโรคอุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มาจากสัตว์หากเกิดการติดเชื้อในสัตว์โรคอาจแพร่ระบาดมาสู่คนได้ง่าย ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานทางระบาดวิทยาที่พบว่าในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจำนวนมาก และโรคที่พบว่าเป็นปัญหาของประเทศไทยได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อ Streptococcus suis โรคที่เกิดจากพยาธิ โปรโตซัว โรคที่เกิดจากเชื้อ โรคเมลิออยโดซิส โรควัณโรคในสัตว์ฯลฯ การควบคุม ป้องกันโรคระบาดจากสัตว์สู่คน การลดอันตรายจากการติดเชื้อโรคประจำถิ่น และโรคอุบัติใหม่ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย การจัดการที่มีประสิทธิผลทันสถานการณ์ เมื่อเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด และภัยสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค การเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมอบให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักใน การจัดอบรมพี่เลี้ยงทีมงานระบาดวิทยา One Health ระดับอำเภอและจังหวัดขึ้น ตามแนวคิดด้าน One Health เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังโรค การแบ่งปันทรัพยากร และการกำหนดบทบาทในการทำงานที่สอดคล้องกัน ตลอดจนการปรับปรุง และพัฒนาความร่วมมือให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมพี่เลี้ยงทีมระบาดวิทยา One Health ระดับอำเภอและจังหวัด ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการ Support Training to strengthen One Health Epidemiological Teams at the Provincial & District Level ว่า การดำเนินงานการอบรมพี่เลี้ยงทีมระบาดวิทยาในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักระบาดวิทยาภาคสนาม, องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งทีมงานด้านระบาดวิทยา One Health ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้ในงานระบาดวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค เสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานสถานการณ์โรค และสอบสวนการระบาด พัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาชี้แนะของทีมพี่เลี้ยงทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ พัฒนารูปแบบการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนามแบบสหสาขาวิชาชีพในการเฝ้าระวังและสอบสวนการระบาด รวมทั้งการจัดทำกรณีศึกษา ผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วยบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์ และอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีประสบการณ์การทำงานระหว่างในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนและสัตว์ และสามารถทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมอบรมโครงการได้ นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าการอบรมพี่เลี้ยงทีมระบาดวิทยา One Health ระดับอำเภอและจังหวัดครั้งนี้ จัดเป็น 4 ระยะ โดยการอบรมระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นการจัดอบรมครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 จัดในวันที่ 12-16 มีนาคม 2555 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการของทีมจังหวัด ครั้งที่ 3 เป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามร่วมกันประมาณ 3 เดือน และครั้งที่ 4 เป็นการประชุมสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการในเดือนกรกฎาคม 2555 เพราะฉะนั้น จึงมีความคาดหวังว่าความร่วมมือหลังผ่านการอบรมครั้งนี้จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย สามารถตอบโต้กับสถานการณ์การระบาดและสามารถสอบสวนโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป "ทั้งนี้ปัญหาการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เป็นภัยคุกคามมนุษย์ชาติที่รุนแรง ไม่เพียงแต่ในด้านสุขภาพมนุษย์เท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดี ดังเห็นได้จาก การระบาดของโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ หรือการระบาดของเชื้ออีโคไล โอ104 ที่เคยเกิดขึ้น แนวคิดเรื่อง One Health ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการป้องกันควบคุมโรค และดูแลปัญหาด้านสุขภาพ โดยการขยายความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และมีการสื่อสารแลกเปลี่ยน ข้อมูลประสบการณ์ ในภาคส่วนสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยา เพื่อความสามารถในการรับมือและตอบโต้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน มีแผนงาน นโยบาย ยุทธศาสตร์ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีระบบประสานบริหารจัดการที่ดี”รองอธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ