กรุงเทพมหานครจัดงานใหญ่ฉลองกรุง ๒๒๒ ปี

ข่าวทั่วไป Thursday April 8, 2004 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--กทม.
กรุงเทพมหานคร จัดงานยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองกรุงฯ ๒๒๒ ปี ฟื้นรำลึกขนบประเพณีดั้งเดิมที่หาดูยาก จัดขบวนแห่พระราชพิธีโบราณตระการตา ๘ วัน ๘ คืน
กรุงเทพมหานคร จัดงานยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองกรุงฯ ๒๒๒ ปี ฟื้นรำลึกขนบประเพณีดั้งเดิมที่หาดูยาก จัดขบวนแห่พระราชพิธีโบราณตระการตา ๘ วัน ๘ คืน ณ บริเวณเกาะ รัตนโกสินทร์ชั้นใน ระหว่างวันที่ ๖—๑๓ เมษายน ศกนี้
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของไทย ภายใต้ร่มเศวตฉัตรของพระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ มาจวบจนวันนี้ครบ ๒๒๒ ปีเต็ม กรุงเทพมหานครจึงกำหนดจัดงานใหญ่ ขึ้น ระหว่างวันที่ ๖ - ๑๓ เมษายน ศกนี้ รวม ๘ วัน ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ - ๒๓.๐๐ น. โดยจะจัดเป็นกิจกรรมย้อนรำลึกถึงความรุ่งเรืองของกรุงเทพฯในอดีต ในรูปแบบการแสดง และสาธิต ขนบประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การแสดง ศิลปหัตถกรรม วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อาหารโบราณที่หาทานยาก ณ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ๖ แห่งหลัก คือ
พื้นที่ที่ ๑ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จัดเป็นเวทีนาฏศิลป์ชั้นสูง เช่น ลิเกทรงเครื่อง โดย ครูบุญเลิศ นาคพินิจ ศิลปินแห่งชาติ ละครชาตรี มอญรำ และ ญวนหก ฯลฯ การจำลองพระราชพิธีโบราณ พิธีโสกันต์ ตรียัมปวาย และการโล้ชิงช้า มี รถราง รถลาก รถสามล้อถีบให้บริการ และมีการแสดงแสง สี เสียง การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
พื้นที่ที่ ๒ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ป้อมมหากาฬ และ กำแพงพระนคร เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับ วรรณศิลป์ พาย้อนรอยสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุง รัตนโกสินทร์ มีการแสดงดนตรีออกภาษา โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เดี่ยวระนาดเอก โดย ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า
พื้นที่ที่ ๓ คลองคูเมือง และถนนราชินี เป็นการจำลองบรรยากาศตลาดน้ำด้วยเรือนับร้อยที่มาจำหน่ายอาหารผลไม้อันหลากหลาย มีการตกแต่งลำคลองด้วยน้ำพุอันสวยงาม และน้ำพุเต้นระบำประกอบแสง-เสียง การจำลองร้านโบราณ เช่น ร้านธงบรรณการ ผู้ผลิตเสาธงชาติแห่งแรกของไทย ฉายาจิตรกร ตำนานร้านถ่ายรูปเก่าแก่กว่า ๖๐ ปี ร้านออนล็อกหยุ่น แหล่งนัดพบร้านกาแฟดังในอดีต ร้านวิวธภูษาคาร ตัดเสื้อข้าราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ ร้าน ก.พานิช ข้าวเหนียวมูลเลื่องชื่อ ฯลฯ รวมไปถึงสินค้า OTOP ที่คัดสรรมาอย่างดี
พื้นที่ที่ ๔ บริเวณสามแพร่ง-แพร่งสรรพศาสตร์ รวมของดีวิถีไทย อาทิ บ้านบาตร บ้านสาย บ้านบุ ช่างหล่อ ช่างทอง บ้านครัว บ้านดอกไม้ ฯลฯ แพร่งนรา จัดทำเป็นถนนหนังสือ แหล่งความรู้สถานศึกษา แพร่งภูธร เป็นถนนสายดนตรีและศิลปวัฒนธรรม เนื่องด้วยอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีให้เห็นในย่านนี้
พื้นที่ที่ ๕ วัดมหรรณพาราม รำลึกระบบการศึกษาของคนกรุงที่มี “พระอาจารย์” สาธิตอุปกรณ์การเรียนการสอนสมัยก่อน การเขียนคำไทยโบราณ วิวัฒนาการ ศึกษาไทย แห่งสุดท้ายคือ
พื้นที่ที่ ๖ เกาะกลางถนนศิริพงษ์ และ ตลอดถนนมหรรณพ เชิญผู้ประกอบการร้านอาหารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจากย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ มาออกร้านจำหน่ายนักท่องเที่ยว
โดยพื้นที่ทั้งหมดจะได้รับการตกแต่งแบบย้อนยุคอย่างงดงาม--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ