เคทีซียืดอกรับผลขาดทุนปี 2554 จากวิกฤติน้ำท่วม หลังต้องแบกรับการตั้งสำรองหนี้ และมาตรการลดภาษีของรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2012 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--บัตรกรุงไทย เคทีซียืดอกรับผลขาดทุนปี 2554 จากวิกฤติน้ำท่วมหลังต้องแบกรับการตั้งสำรองหนี้ และมาตรการลดภาษีของรัฐรวมถึงตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเพื่อรองรับการแลกสิทธิประโยชน์จากการเปลี่ยนนโยบายการตลาดมั่นใจแผนลดต้นทุนจะกลับมาทำกำไรไตรมาส 2 ปี 2555 และจะกำไรสูงสุดในปี 2556 เคทีซีรับเหตุวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก สภาพตลาดสินเชื่อ ไม่เอื้ออำนวยให้จับจ่าย ส่งผลพอร์ตลูกหนี้สุทธิรวมของบริษัทฯ เท่ากับ 42,920 ล้านบาท ลดลง 4% ฐานสมาชิกรวมที่ 2.2 ล้านบัญชี แต่รายได้รวมเพิ่มขึ้นที่ 3% เท่ากับ 12,497 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มจากธุรกิจสินเชื่อบุคคล อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 20% เป็น 14,094 ล้านบาท จาก 3 ปัจจัยหลัก 1) การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญพิเศษสำหรับลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2) การตั้งสำรองเพิ่มพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตลาด เพื่อรองรับการแลกสิทธิประโยชน์ของสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี - รอยัล ออร์คิด พลัส 3) มาตรการลดภาษีของรัฐจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 ส่งผลต่อการรับรู้ผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ที่เกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและอื่นๆ ลดลงไปเท่ากับ 7% ส่งผลให้บริษัทฯ ขาดทุน 1,621 ล้านบาท มั่นใจแผนกลยุทธ์ปี 2555 มาตรการลดต้นทุนด้านปฏิบัติการและไอที การดึงงานเอาท์ซอร์สกลับมาบริหารเองในบริษัทฯ จะสามารถกลับมาทำกำไรตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2555 และจะมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ มาในปี 2556 และจะขึ้นแท่นแชมป์บัตรเครดิตอันดับ 1 ในปี 2557 นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แม้ว่าภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 จะเติบโตดี แต่ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตชะลอตัว ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตต่างๆ ของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตปี 2554 ส่วนใหญ่จะต่ำกว่าปี 2553 โดยมูลค่าลูกหนี้บัตรเครดิตปี 2554 มีจำนวน 228,903 ล้านบาท เติบโตเพียง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเคยเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่จำนวนบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 15.3 ล้านบัตร เพิ่มขึ้น 8% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรต่างประเทศและการเบิกเงินสดล่วงหน้า เติบโต 13% จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เคยเพิ่มขึ้นถึง 16% ในขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเติบโตที่ 14%” “ในส่วนของเคทีซีเองได้รับผลกระทบเช่นกัน จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคจับจ่าย ทำให้พอร์ตลูกหนี้สุทธิรวมอยู่ที่ 42,920 ล้านบาท ลดลง 4% โดยพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 10% หรือมีจำนวน 11,650 ล้านบาท แต่พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตซึ่งมีสัดส่วน 73% ของพอร์ตลูกหนี้ทั้งหมดลดลง 8% หรือเท่ากับ 30,940 ล้านบาท ในขณะที่รายได้รวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นที่ 3% หรือมีจำนวน 12,497 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อบุคคล และแม้ว่าบริษัทฯ จะควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น 14,094 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ทำให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ประจำปี 2554 มีผลขาดทุนเท่ากับ 1,621 ล้านบาท จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญพิเศษสำหรับลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่ คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม 633 ล้านบาท เพิ่มเติมจากสำรองจำนวน 4,978 ล้านบาท (40% ของรายได้รวม) ซึ่งเป็นจำนวนที่ตั้งสำรองตามเกณฑ์นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปกติของบริษัทฯ 2. การตั้งสำรองเพิ่มพิเศษ เพื่อรองรับการแลกสิทธิประโยชน์ของสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี — รอยัล ออร์คิด พลัส จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการตลาด โดยเปลี่ยนไมล์สะสมให้เป็นคะแนนสะสม KTC Forever Rewards แทน ซึ่งอาจมีสมาชิกแลกใช้สิทธิประโยชน์ในทันที และเพื่อเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า (TFRI 13: Thailand Financial Reporting Interpretation) ซึ่งคาดว่าสภาวิชาชีพบัญชีฯ จะประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดการตีความดังกล่าวในปี 2556 และมีข้อกำหนดให้ทำการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลัง (Retroactive Adjustment) ด้วย บริษัทฯ จึงตั้งสำรองคะแนนสะสมเพิ่มขึ้นอีก 838 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของรายได้รวม 3. มาตรการของรัฐที่ลดอัตราภาษีจาก 30% เหลือ 23% และ 20% ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ส่งผลต่อการรับรู้ผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีที่เกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวของ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและอื่นๆ ลดลงไปเท่ากับ 7% ในปี 2555 และจะลดลงอีก 3% ในปี 2556 ซึ่งเป็นผลให้ในปีนี้มูลค่าภาษีเงินได้รอตัดบัญชีติดลบ 404 ล้านบาท” “สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 47,443 ล้านบาท ลดลงจาก 48,541 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 42,920 ล้านบาท ลดลงจาก 44,775 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ฐานสมาชิกรวม 2.2 ล้านบัญชี ประกอบด้วย บัตรเครดิต 1,619,863 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 30,940 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล “เคทีซี แคช” เท่ากับ 583,637 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซี แคช สุทธิ 11,650 ล้านบาท และสินเชื่อเจ้าของกิจการ “เคทีซี มิลเลี่ยน” สุทธิ 58 ล้านบาท” “ในปี 2554 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,497 ล้านบาท เติบโต 3% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ มีจำนวน 8,139 ล้านบาท และ 3,166 ล้านบาท และ 1,193 ล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็น 65% 25% และ 10% ของรายได้รวม สำหรับรายได้อื่นๆ ประมาณ 71% มาจาก หนี้สูญได้รับคืน สำหรับค่าใช้จ่ายรวมปี 2554 (ไม่รวมภาษีเงินได้) เท่ากับ 14,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จาก 11,752 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองคะแนนสะสม ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ในปี 2554 เพิ่มเป็น 52% จากปีก่อนที่มีค่า 47% แต่หากไม่รวมการตั้งสำรองคะแนนสะสมที่มีมูลค่า 838 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของรายได้รวมแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ของปีนี้มีสัดส่วนเท่ากับ 46% เท่านั้น” “หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวน 5,611 ล้านบาท เพิ่มจาก 4,073 ล้านบาทในปีก่อน ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้กรณีผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในอนาคต รวมถึงการเร่งตัดหนี้สูญให้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าไม่รวมสำรองพิเศษกรณีน้ำท่วมแล้ว บริษัทฯ จะมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเป็น 4,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ ณ สิ้นปี 2554 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้นเท่ากับ 25,740 ล้านบาท อัตราส่วนของหนี้สินต่อ ส่วนของผู้ถือหุ้นสำหรับปี 2554 อยู่ที่ 8.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า” “สำหรับนโยบายและทิศทางการทำธุรกิจในปี 2555 บริษัทฯ จะปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยใช้แผนกลยุทธ์ในการควบคุมต้นทุนของบริษัทฯ ให้ต่ำกว่าอุตสาหกรรม ด้วยการดึงงานที่เคยว่าจ้างองค์กรภายนอกกลับมาบริหารเองในองค์กร เพื่อความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่ ระบบควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิต งานติดตามหนี้ ฝ่ายบริการลูกค้า รวมทั้งเน้นการฝึกอบรมพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลักดันสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-Based Organization) รวมทั้งจัดหารายได้และวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ใช้แคมเปญการตลาดผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริษัทฯ มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นและมั่นคงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างได้ผล จะต้องอาศัยระยะเวลา และการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงระบบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะค่อยๆ ส่งผลต่อภาพรวมกิจการ และทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงอย่างชัดเจนในอนาคต” “อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 แม้จะมีมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐหลายประการ แต่ผลกระทบของหนี้เสียที่เกิดขึ้นจะส่งผลเมื่ออายุของลูกหนี้นานเกินกว่า 90 วัน ซึ่งจะแสดงภาพชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 จึงคาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 อาจยังมีผลประกอบการขาดทุน แต่จะกลับมาทำกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เป็นต้นไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ