พินิจเตรียมยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าให้ส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2004 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--บีโอไอ
พินิจปลื้มผลงานบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยในสหรัฐฯ เตรียมให้ส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร รวมทั้งด้านเงินทุน การหาผู้ร่วมทุน ในส่วนของกิจการการผลิตรถโดยสารขนาดใหญ่ (รถ BUS) พร้อมดึงสถาบันไทย-เยอรมัน และสถาบันยานยนต์ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้เงินสนับสนุนเพื่อให้ราชบุรีเป็นศูนย์กลางการผลิตรถโดยสารส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียน
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทดี เอ็ม ชัยพงษ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี ว่า บริษัท ดี เอ็ม ชัยพงษ์ คอร์ปอเรชั่น ถือเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจผลิตและซ่อมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตทั้งในประเทศ และสหรัฐอเมริกา โดยมีตลาดส่งออกสำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และยุโรป
"ปัจจุบัน ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ประเภท Rebuild ในต่างประเทศ มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเห็นว่าภาครัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยให้มีการพัฒนา ปรับตัว ด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยจะนำร่องที่บริษัทชัยพงษ์ ซึ่งมีประสบการณ์ทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้รัฐบาลจะพิจารณาให้การส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็น การให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุน ตลอดจนการสนับสนุนหาผู้ร่วมทุนให้กับทางบริษัท " นายพินิจ กล่าว
นายพินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัท ดี เอ็ม ชัยพงษ์ฯ ส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ปีละประมาณ 1.6 พันล้านบาท และบริษัทคาดว่าหากสามารถหาผู้ร่วมทุน ได้จะขยายการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 4-5 พันล้านบาท
ส่วนการส่งออกของชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ในส่วนของอะไหล่ปี 2546 จากข้อมูลของสถาบันยานยนต์ คิดเป็นมูลค่า 114,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายในปี 2549 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท
ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการขณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า บีโอไอจะมุ่งให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้กับนักลงทุนไทยที่จะลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้การส่งเสริมและพัฒนาให้กิจการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเครือข่ายการตลาดของบริษัทที่มีอยู่แล้วมาช่วยพัฒนาคุณภาพการส่งออกสินค้าไทยด้านนายวุฒิชัย ฐิติวัฒนพงษ์ ประธานบริษัท ดี เอ็ม ชัยพงษ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การที่เข้าไปขยายตลาดชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ใน สหรัฐอเมริกานั้น เป็นเพราะอยากเห็นอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเติบโตในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยสามารถสู้กับชาวต่างชาติได้แล้ว ขณะนี้ต้องการหาผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาช่วยขยายการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกราว 400-500 ล้านบาท ทั้งนี้หากขยายการลงทุนได้จะทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น จาก 1,600 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท
"ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและซ่อมแซมอะไหล่รถยนต์ (REBUILD) มา 20 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันมีบริษัทอยู่ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ผมเห็นว่าธุรกิจประเภทนี้สามารถสร้างรายได้สูง รวมทั้งธุรกิจประเภทนี้มีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นโอกาสอันดีของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น" นายวุฒิชัยกล่าว
นอกจากนี้นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการผลิตและซ่อมตัวถังรถยนต์ในจังหวัดราชบุรี เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการที่ต้องการให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนและให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมนี้ เพราะพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอู่ต่อรถโดยสารอยู่มาก และยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควร โดยผู้ประกอบการเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการต่างคนต่างพัฒนาไปคนละทิศละทาง ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านการเงินและวัตถุดิบด้วย
นายพินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิทยาการใหม่ๆ โดยมอบหมายให้สถาบันไทย-เยอรมัน และสถาบันยานยนต์ เข้ามาช่วยพัฒนาฝึกอบรมบุคลากรและถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยี รวมทั้งให้ธนาคารเอสเอ็มอีให้ความสนับสนุนด้านการเงินกับผู้ประกอบการ แต่ทั้งนี้ต้องมีการพิจารณารายละเอียดร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังต้องการยกระดับให้อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์กลางการผลิตรถโดยสารส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียนอีกด้วย--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ