เปิดตัวธงสัญลักษณ์ “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2012 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดตัวธงสัญลักษณ์ “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”แจกสำนักงานพระพุทธศาสนาและวัดทั่วประเทศเพื่อประกาศการเริ่มต้นของงานเฉลิมฉลอง“พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ครั้งยิ่งใหญ่ในวันมาฆบูชานี้ มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี๒,๖๐๐ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” หรือเรียกว่า “พุทธชยันตี” อันเป็นวันที่พระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้น ดังนั้น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อกิเลสตัณหาทั้งปวงเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถือปฏิบัติบูชาอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาส ๘๔ พรรษา จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วไปร่วมงานเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ด้วยการปฏิบัติบูชาตลอดปี ๒๕๕๕ โดยเริ่มในวันมาฆบูชา วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ วัดทั่วประเทศ พระธรรมโกศาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า พุทธชยันตีเป็นวาระที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาพุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงอันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก“พุทธชยันตี” จึงมีความหมายว่าเป็นการตรัสรู้ และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธศาสนาและชาวพุทธด้วยเช่นกัน สำหรับวาระสำคัญพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ แห่งการตรัสรู้ ถ้ายึดถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่างวิสาขบูชา ๒๕๕๔- วิสาขบูชา ๒๕๕๕ ทั้งนี้ในวันวิสาขบูชา ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานับเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๕๙๙ ปีเต็มและเริ่มเข้าสู่ปี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพานบวกด้วย ๔๕ อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งานเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ถือเป็นวาระสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย เป็นต้น ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการโดยมีมหาเถรสมาคม(มส.) เป็นที่ปรึกษาและ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่วนการจัดงานจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.ด้านการปฏิบัติบูชา มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน โดยใช้สถานที่ที่พุทธมณฑล ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมืองทองธานี สยามพารากอน 2.ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) ดำเนินการ 3.ด้านกิจกรรม มหาเถรสมาคมได้มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายศาสนาเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดกิจกรรม นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่พุทธมณฑล จากคณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์นานาชาติ รวมทั้งจะมีการวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพื่อเป็นการประกาศการเริ่มต้นการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกของประเทศไทยด้วย โดยมหาเถรสมาคมกำหนดให้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้ง ๓ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา เป็นกิจกรรมการฉลองพุทธชยันตี สำหรับวันมาฆบูชา ที่จะเวียนมาถึงในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวเนื่องจากเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง“โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา๙เดือน ดังนั้น วันมาฆบูชาปีนี้นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติกันมาทุกปี ยังเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ธรรม หรือเรียกว่า ‘พุทธชยันตี’ ที่พระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้น พุทธศาสนิกชนได้ยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามหลักเนื้อหาที่ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ จึงนับเป็นปีแห่งการปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อกิเลสตัณหาทั้งปวง และเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาส ๘๔ ในโอกาสนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้มอบธงสัญลักษณ์ “พุทธชยันตี” แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาทุกจังหวัด และวัดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปประดับ ในสถานที่สำคัญต่างๆ ตลอดปี เป็นการแสดงถึงการเริ่มต้นแห่งการเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้พร้อมกัน ทั่วทั้งประเทศ และมอบให้กับผู้นำทางศาสนาในระดับนานาชาติ สำรับธงตราสัญลักษณ์งานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี นั้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสีเขียวแห่งโพธิ์ หมายถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งพระพุทธศาสนาธรรมจักรบนผืนธงชาติไทย หมายถึง สถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รองรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองจนประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกกนกลายไทยชูช่อฟ้า หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยรุ่งเรืองด้วยอารยธรรมแห่งชนชาติไทยได้เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพระพุทธเจ้า ให้อำนวยประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และจะดำรงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี”ด้วยเช่นกันในเทศกาลวันมาฆบูชา ระหว่าววันที่ ๕-๗ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ โดยมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เช่น การปล่อยขบวนรถบุพชาติประชาสัมพันธ์งานมาฆบูชา การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยสรภัญญะ การประกวดร้องเพลงส่งเสริมศีลธรรม การประกวดตอบปัญหาธรรม การประกวดนิทานคุณธรรม การประกวดหนังสั้นส่งเสริมคุณธรรม การเจริญพระพุทธมนต์ปาฏิโมกข์ การเวียนเทียนสักการะพระบรมสารีริกธาตุการเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตภาวนาถวายพระราชกุศลฯ และการบรรยายธรรม “ธรรมลีลา พุทธชยันตี” ในรูปแบบของสื่อผสมที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจถึงที่มา ความหมายและความสำคัญของพุทธชยันตีอย่างแท้จริง เพื่อให้การเฉลิมฉลองของชาวพุทธเป็นการตระหนักรู้ละอายชั่วกลัวบาปและใฝ่กุศล ร่วมกิจกรรมทำบุญหรือเรียนรู้ธรรมมะร่วมกันอย่างน้อยทุกวันพระหรือทุกวันเพ็ญ เพื่อให้พ้นจากภาวะวิกฤติแห่งบ่วงอกุศลกรรมไปสู่ความสุขความเจริญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ