"กอด" ใครคิดว่าไม่สำคัญ กอดจากพ่อแม่ แก้ไขปัญหาลูกได้

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2004 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
วิภาณี หุตะโชค ผู้จัดการแผนกกิจกรรมสัมพันธ์ โครงการสานรัก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จัด AIS Family Seminar ในหัวข้อ "กอด สื่อรัก สร้างพลังชีวิต" ในโอกาสวันครอบครัว โดยมี พ.ญ.คุณหญิง พรทิพย์ และวิชัย โรจนสุนันท์ แขกรับเชิญและ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ น.พ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ประจำคลีนิกครอบครัว โรงพยาบาลพญาไท 2 และ ศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ คุณแม่ลูกสองเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ภายในงานสัมมนาได้จัด Kids Zone เป็นมุมสำหรับเด็กทำกิจกรรม อาทิ ปั้นแป้งโด, ร้อยลูกปัดหรรษา, โต๊ะสีมีชีวิต และ โต๊ะกระดาษมีชีวิต ฯลฯ
วิภาณี หุตะโชค ผู้รับผิดชอบโครงการสานรัก กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนา "กอด..สื่อรัก สร้างพลังชีวิต" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และสร้างกระแสให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของ "การกอด" เอไอเอส เชื่อมั่นในพลังและอานุภาพของการกอด และ อยากเห็นคนไทยแสดงความรัก ความผูกพัน และความรู้สึกที่ดีต่อกันด้วยการกอดกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีต่อกันของคนในครอบครัว เมื่อครอบครัวไทยเข้มแข็ง แน่นอนว่าสังคมไทยของเราก็จะเข้มแข็งไปด้วย
พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ คุณหมอเก่งและแกร่ง ผู้พลิกคดีดัง เผยว่า "ตนเองเติบโตขึ้นมา โดยมิได้เป็นปัญหาแก่สังคม ส่วนสำคัญหนึ่งคือ ได้รับการกอดอย่างสม่ำเสมอจากผู้เป็นแม่ เพราะในวัยเยาว์ เมื่อกระทำผิด ตนจะได้รับการลงโทษจากพ่ออย่างรุนแรงเพื่อให้เข็ดหลาบ หลายครั้งที่คิดว่าพ่อไม่รักตน แต่ด้วยสัมผัสโดยการกอดจากผู้เป็นแม่ทุกครั้ง ทำให้ตนรู้ว่า พ่อไม่ชอบสิ่งที่ตนกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวเอง ปัจจุบันนี้ เมื่อมีปัญหาหรือเกิดความเครียดและกดดันจากการทำงาน เพียงคุณวิชัยแตะที่หลัง หรือตบเบาๆ ที่ไหล่ ทำให้รู้สึกได้ถึงความ ห่วงใย และการให้กำลังใจ ซึ่งมีความหมายมหาศาลสำหรับตน" ขณะที่สามี วิชัย โรจนสุนันท์ ยอมรับว่า " ตนเองไม่ใช่นักพูด ไม่ถนัดนักกับการพูด แต่เชื่อมั่นใน "กอด" ว่าเป็นสัมผัสทางกายที่แทนคำพูดนับพันคำ โดยตนและลูกสาวสามารถสื่อสารความรู้สึกได้จากการกอด ทุกครั้งที่ลูกสาวมากอด ตนจะร้อง "แอ้วว.." เป็นลูกเล่นแกล้งเจ็บเมื่อถูกกอดอย่างรุนแรง หากวันไหนลูกสาวไม่ได้ยินเสียงร้องของพ่อ เมื่อเข้ามากอด ลูกจะรู้สึกได้ว่า วันนั้น ตนเหนื่อยและเครียดมากนั่นเอง"
น.พ.สุกมล ผู้มีความเชื่อมั่นในพลังและอานุภาพของการกอด จนถึงกับสร้างคำขวัญ "คิดถึงกัน ก็กอดกันหน่อย" ภายในครอบครัว กล่าวว่า "ธรรมชาติได้มีการจัดระบบระเบียบของร่างกายไว้เป็นอย่างดี อาทิ การที่ผู้หญิงมีสรีระในการให้นมลูกอยู่บริเวณด้านหน้า เมื่อทารกดูดนม ทารกก็จะอยู่ในอ้อมกอดของแม่โดยอัตโนมัติ เด็กจะได้รับสัมผัสจากผิวกาย ตาสบตากันทำให้เกิดความอบอุ่นและผูกพัน ทั้งนี้เพราะระบบประสาทที่ทารกสามารถรับรู้ได้ก็คือการสัมผัส การสัมผัสช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก โดยหลักทางการแพทย์นั้น ประสาทสัมผัสที่ไวที่สุดของเด็ก คือผิวหนัง เมื่อมีการกอดหรือสัมผัส ทำให้มีการสื่อประสาทจากทางผิวหนัง เข้าไปตามเส้นประสาท ต่อไปยังสมอง เมื่อเชื่อมโยงกับความรู้สึกดีๆ ทำให้เกิดความสุข เมื่อมีความสุข พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนี้แล้ว การกอดจากพ่อแม่ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาวัยรุ่นได้อีกด้วย ในครอบครัวที่มีการกอดหรือสัมผัสทางกาย ซึ่งแสดงถึงความรักความอบอุ่น เท่ากับเป็นการวางสัมพันธภาพพื้นฐานเป็นอย่างดี สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น วัยรุ่นที่ได้รับการกอดจากพ่อแม่ ทำให้เกิดความผูกพัน ดังนั้นก่อนกระทำการใดๆ ที่อาจจะนำมาซึ่งปัญหา ก็จะคิดหน้าคิดหลัง ส่วนวัยรุ่นที่ไม่ได้รับกายสัมผัสจากพ่อแม่ จะไม่มีความรู้สึกผูกพันกับคนในครอบครัว ไม่มีพ่อแม่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ พยายามแสวงหาสิ่งที่ตนขาดหายไปจากภายนอก อันจะทำให้ก้าวสู่ปัญหาได้ง่าย" พร้อมแนะเทคนิคที่ใช้ภายในครอบครัว ในเรื่องวัยรุ่นกับปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยให้คำนิยามแก่ลูกสาว ว่าเป็น ความสุขของพ่อแม่ หากลูกสาวเป็นอะไรไป หัวใจพ่อแม่ก็คงแตกสลาย ส่วนลูกชาย ก็คือ เด็กหนุ่มที่พ่อแม่ภาคภูมิใจ เมื่อรักแม่ รักพี่สาว และน้องสาวอย่างไร ก็ควรให้เกียรติหญิงอื่นเช่นเดียวกัน
น.พ.สุกมล กล่าวสรุปว่า "จุดอ่อนของวัฒนธรรมไทยนั้น จะมีการถ่ายทอดความรู้สึกเรื่องการชมเชยเมื่อทำความดี และการสัมผัสทางกายน้อย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเคยชินกับสัมผัสทางกาย แต่ละครอบครัวควรจะเริ่มการถ่ายทอดการกอด ตั้งแต่ลูกอยู่ในวัยเยาว์ เริ่มให้อ้อมกอดเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการวางพื้นฐานสัมพันธภาพในครอบครัวนั่นเอง"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ โทร 0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ปนัดดา--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ