สกว. วิจัยถึง "ค่ายผู้เฒ่าทะเลสาบ" กิจกรรมเพิ่มคุณค่าผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 20, 2004 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผู้สูงอายุรอบทะเลสาบสงขลารวมตัวเข้า "ค่ายผู้เฒ่า" ถ่ายทอดความรู้สะท้อนมุมมองทะเลสาบสงขลาในความเปลี่ยนแปลง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต หวังเติมเต็มความรู้ร่วมฟื้นฟูทะเลสาบอย่างรู้จริง ระบุการพัฒนาที่ผ่านมาไม่เคยถามชาวบ้าน ปล่อยให้เป็นเพียงผู้รับผลกระทบและปัญหา หากยังพัฒนาอย่างผิดพลาดทะเลสาบสงขลาอาจกลายเป็นทะเลที่ถูกสาบ เตรียมขยายเครือข่ายสานความรู้สู่คนทุกวัยในลุ่มทะเลสาบ (สามารถดาวน์โหลดเนื้อข่าวได้ที่ http://pr.trf.or.th/news/index/asp)
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบสามน้ำที่เลี้ยงชีวิตคนรอบทะเลสาบสงขลา และพัทลุงมายาวนาน เป็นแหล่งอารยธรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์คนลุ่มทะเลสาบ ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบมีคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบ กำกับดูแล ซึ่งมีหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องมากมาย และมีแผนงานกิจกรรม เพื่อหาหนทางที่จะฟื้นฟูทะเลสาบให้ดีขึ้นเหมือนในอดีต ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนมีความเชื่อว่าการพัฒนาใดๆ ก็ตาม หากขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนในเบื้องต้นแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะประเด็นวิสัยทัศน์ การมองทะเลสาบจากคนภายนอก
กิจกรรม"ค่ายผู้เฒ่าทะเลสาบ" เป็นเวทีที่คนในลุ่มทะเลสาบโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุได้มาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลสาบสงขลาในอดีตและมุมมองต่อปัจจุบันและอนาคต โดยสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบร่วมกับโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคใต้ : กรณีลุ่มน้ำทะเลสาบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้น เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของปราชญ์และผู้เฒ่ารอบทะเลสาบที่เห็นทะเลสาบมายาวนาน เป็นองค์ความรู้และมุมมองจาก "คนใน" ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทิศทางแนวทางในการฟื้นฟูทะเลสาบให้ใกล้เคียงกับอดีตที่ผ่านมา
นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ความรู้ในตัวผู้เฒ่าแก่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาเรามองข้ามความรู้เหล่านี้ การจัดค่ายผู้เฒ่าจึงเป็นการเติมเต็มความรู้ในส่วนที่ขาดไปในส่วนของผู้สูงอายุ เพราะที่ผ่านมาความรู้ของทะเลสาบสงขลามักถูกมองจากคนนอก/นักวิชาการ/เอ็นจีโอ ฯลฯ แต่นี่คือความรู้จากผู้สูงอายุโดยตรงที่จะได้มาคุยกันถึงภาพของลุ่มทะเลสาบในอดีต ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา ปัญหา/อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ซึ่งจุดนี้ถือว่าสำคัญ และเป็นความรู้ที่สามารถยกระดับเอาไปใช้ต่อยอดได้อีก ในการแก้ไขปัญหาชุมชนลุ่มทะเลสาบการดึงคนหลายวัยมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน การถ่ายทอดความรู้ก็จะเกิดขึ้น และไม่ทำให้ความรู้ขาดช่วง
พระมหาเจริญ เตชะวันโต เจ้าอาวาส วัดท่าเมรุ จ.สงขลา กล่าวว่า การมาบอกเล่าเรื่องราวของทะเลสาบแม้จะไม่ได้เห็นผลทันทีทันใด แต่อย่างน้อยการมาช่วยกันฟื้นความหลังให้กลับมาบ้างก็เป็นการปลุกสำนึก เป็นจุดหนึ่งที่คนแก่จะทำได้และควรทำเป็นตัวอย่างแก่ลูกหลาน
"50 ปีที่ผ่านมา ทะเลสาบเปลี่ยนไปอย่างมากมาย จากน้ำที่เคยใสแจ๋ว กุ้งหอยปูปลาสมัยก่อนมีมากเหลือเกิน อย่าง 30-40 ปีที่แล้วเรายังเห็นปลาโลมาเข้ามาในทะเลสาบ นั่นคือธรรมชาติที่นึกไปแล้วเราก็สบายใจแต่ปัจจุบันเห็นแล้วเศร้าใจจริงๆ "พระมหาเจริญกล่าว"
พ่อเฒ่าแดง วัย 80 ปี เฒ่าทะเลสาบอีกผู้หนึ่ง บอกว่า ทะเลสาบวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก กุ้งหอยปูปลาที่เคยมีก็หมดไป ทะเลสาบที่เคยตื้นเขิน ชาวบ้านหลายคนก็ต้องเลิกอาชีพเดิม หันไปทำอาชีพอื่น การแก้ไขปัญหาของรัฐในปัจจุบันก็ไม่ตรงจุด และทำโดยขาดความรู้ ไม่เคยมีใครมาถามคนแก่ว่าในอดีตทะเลสาบสงขลาเป็นอย่างไร โครงการที่ลงมาก็ไม่เคยมีการถามชาวบ้าน เรามารู้เมื่อเขาจะลงมือทำกันแล้ว ทั้งที่เราเป็นคนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงกลับไม่เคยมีใครมาถาม
นายล้วน โรสิกะ เฒ่าทะเลสาบวัย 70 ปี กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของทะเลสาบเคยมีและหายไปนอกจากกุ้งหอยปลา สัตว์น้ำจะร่อยหรอลงไปมาก จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและการที่มีการใช้เครื่องมือประมงทันสมัยแล้วหาดทรายที่เคยมีก็หายไป นกนางนวลที่เคยมาบินให้เห็นก็หายไปหมด และยิ่ง ปัจจุบันมีเขื่อนมาปิดกั้นปากน้ำทะเลสาบทำให้มีปัญหาทางธรรมชาติ คือความแรงของน้ำขึ้นไม่มีกำลังเพียงพอที่จะพัดส่งพันธุ์สัตว์เข้าสู่ทะเลสาบเหมือนที่ยังไม่มีเขื่อน การทรัพยากรทะเลสาบอย่างขาดความรู้ความเข้าใจทำให้วันนี้และในอนาคตทะเลสาบอาจกลายเป็นทะเลที่ถูกสาบก็ได้
หลังจากร่วมกันฟื้นความหลังบอกเล่าเรื่องราวทะเลสาบสงขลา เหล่าบรรดา "ผู้เฒ่า" สรุปว่า ในสายตาของคนลุ่มน้ำทะเลสาบ ปัญหาของเขาก็คือการได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐที่เข้ามาโดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้รับรู้มาก่อน ไม่เคยถามชาวบ้าน ชาวบ้านรู้เมื่อปลายทางที่มีการจัดสรรงบประมาณจะเริ่มทำกันแล้วซึ่งลำบาก และคนที่ได้รับผลกระทบตรงๆ ก็คือชาวบ้านในพื้นที่
ในสายตา "ผู้เฒ่าทะเลสาบ" ทะเลสาบสงขลาที่อยากเห็นในอนาคต ก็คือ ทำอย่างไรจะได้ระบบนิเวศกลับคืนมาบ้างแม้ไม่ใช่ทั้งหมด เช่น การทำให้น้ำไหลเวียนสะดวก โดยการเปิดปากน้ำ ขุดลอกคลองเปิดร่องน้ำใหม่ นำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยมากขึ้น เอาดินที่ได้จากขุดลอกร่องน้ำคูคลองมาใช้ปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นที่อาศัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ลดปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบ และเป็นการใช้ประโยชน์จากดินโคลนที่ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหนอีกด้วย นอกจากนี้กลุ่มผู้เฒ่ายังเสนอว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อทะเลสาบสงขลาเป็น"ทะเลสาบสงขลา-พัทลุง" เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ทีสำคัญควรยกเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึก และยกเลิกการทำนากุ้งที่อยู่ริมทะเล รวมทั้งการจัดระเบียบให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายสัตว์น้ำ เป็นต้น
เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนเหล่าบรรดาผู้เฒ่าทะเลสาบยังร่วมกันกำหนดแผนว่าจะมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ทุก 3 เดือน โดยจะไปชักชวนบุตรหลานมาร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อร่วมกันมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาไม่ให้กลายเป็นทะเลที่ถูกสาบ จากการใช้ทรัพยากรและการจัดการโดยขาดความรู้จริงแล้วยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย
ผลสืบเนื่องของ"ค่ายผู้เฒ่าทะเลสาบ" ทีจะเกิดขึ้นต่อไปคือการที่คนหลายวัยของกลุ่มทะเลสาบทั้ง "ผู้เฒ่า...ผู้กำลังเฒ่า...และผู้ไม่อยากเฒ่า" ได้มารวมตัวกันรวมพลังความคิดเติมเต็มความรู้เรื่องทะเลสาบซึ่งจะนำไปสู่การสามารถกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาทะเลสาบอย่างบูรณาการแท้จริง โดยคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับปัญหาหรือผลกระทบ.
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร.0-2298-0455-72 ต่อ 159,160
โทรสาร.0-2298-0454
e-mail : pr@trf.or.th http://pr.trf.or.th--จบ--
-วย/นท-

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ