กทม. เตรียมจัดระเบียบโรงฆ่าสัตว์ในกทม.รับปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร

ข่าวทั่วไป Tuesday April 20, 2004 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (19 เม.ย. 47) เวลา 10.00 น. นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบโรงฆ่าสัตว์ระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานคร โดยมีนายผดุง สุเตชะ ปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมกรมปศุสัตว์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้ปี 2547 เป็นปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อสร้าง คุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเป็นการสร้างมาตรฐานสินค้า เพื่อความเป็นธรรมในระบบการค้าเสรีของโลก ตลอดจนสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศไทยเป็นครัวของโลก กรมปศุสัตว์จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน จัดระบบการปฏิบัติงานควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้รับการประสานงานจากกรมปศุสัตว์ ให้กรุงเทพมหานครมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบโรงฆ่าสัตว์ระดับจังหวัด โดยมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานคณะกรรมการ และมีผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักเทศกิจ สำนักอนามัย สำนักผังเมือง สำนักการโยธา ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 1 กรมปศุสัตว์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี ผู้อำนวยการกองปกครองและทะเบียน ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เป็นกรรมการ เพื่อควบคุมกำกับดูแลโรงฆ่าสัตว์ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2539) รวมทั้งบริหารส่วนราชการสังกัด กทม. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว
สำหรับการบริโภคเนื้อสุกรในกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการประมาณการการบริโภคไว้ จำนวนประมาณ 10,000 ตัว/วัน อย่างไรก็ตามมีการฆ่าสุกรในเขตกรุงเทพมหานครโดยโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตเพียง ประมาณ 900 ตัว ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์ตลิ่งชัน เขต ตลิ่งชัน จำนวน 100 ตัว โรงฆ่าสัตว์สยามอินเตอร์พอร์ค จำกัด เขตหนองจอก จำนวน 100 ตัว และโรงฆ่าสัตว์สหกรณ์ผู้ค้าสุกรชำแหละกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย จำนวน 700 ตัว ส่วนอีกประมาณ 9,000 ตัวนำมาจากปริมณฑลและต่างจังหวัด ในส่วนผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (เขียง) จากการสำรวจของสำนักงานเขต 50 สำนักงานเขต มีตลาดสด 204 แห่ง มีเขียงสุกร 1,056 ราย และเขียงโคกระบือ 272 ราย รวมทั้งห้างสรรพสินค้าในเขตกทม. ด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ