โครงการ ธอส. — กบข. ครั้งที่ 2 คงอัตราดอกเบี้ยเดิมแก่ข้าราชการที่พ้นสมาชิกภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 21, 2004 09:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--กบข.
โครงการบ้าน ธอส.- กบข. ครั้งที่ 2 คงอัตราดอกเบี้ยเดิมแก่สมาชิกที่พ้นสมาชิกภาพในโครงการทางเลือกใหม่ให้ชีวิตและการถ่ายโอนตามนโยบายปฏิรูประบบราชการ เร่งสมาชิกตัดสินใจก่อนปิดโครงการในปลายเดือนนี้
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การคิดอัตราดอกเบี้ยของ "โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยข้าราชการสมาชิก กบข. ครั้งที่ 2 " ว่า สำหรับสมาชิก กบข. ที่ใช้บริการสินเชื่อโครงการดังกล่าวแล้วพ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากเข้าร่วม" โครงการทางเลือกใหม่ให้ชีวิต " รวมถึงสมาชิกที่พ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุแห่งการเปลี่ยนสถานะไปเป็นองค์กรของรัฐหรือ ถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามนโยบายการปฏิรูประบบราชการ จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใน โครงการบ้าน ธอส.- กบข. ครั้งที่ 2 คงเดิม จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ยกเว้นกรณีที่มีงวดค้างชำระตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไปจะต้องปรับพ้นสิทธิตามเงื่อนไขของโครงการ
นายวิสิฐยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง ระยะเวลาของโครงการบ้าน ธอส.- กบข. ครั้งที่ 2 ว่าโครงการดังกล่าวจะยังคงเปิดให้บริการสมาชิก กบข. ต่อไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ศกนี้เท่านั้น โดยจะต้องทำนิติกรรมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน ศกนี้เช่นเดียวกัน หากสมาชิก กบข. ท่านใดที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านก็ขอให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ยอดตัวเลขอย่างเป็นทางการในโครงการดังกล่าว ณ ปัจจุบัน มีสมาชิกที่ใช้สิทธิยื่นกู้ทั้งสิ้น 53,960 ราย คิดเป็นวงเงินยื่นกู้สูงถึง 37,769.58 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง และจากการเก็บข้อมูลสถิติพบว่าสมาชิก กบข. ในเขตภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด คือ จำนวน 29,741 ราย โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น มีผู้ยื่นขอใช้สิทธิมากที่สุด
ดังนั้น หากสมาชิก กบข. ท่านใดต้องการใช้สวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ โปรดยื่นเอกสารเพื่อดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ ลูกค้าสัมพันธ์ ธอส. โทร. 0-2246-0303 กด 9 หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข . โทร. 1179 กด 6 และที่ member@gpf.or.th
เรื่องน่ารู้จาก กบข.
สวัสดิการกู้เพื่อการศึกษา
กบข. เปิดโครงการสินเชื่อการศึกษากรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. โดยสมาชิกสามารถใช้สิทธิยื่นกู้เพื่อการศึกษาในประเทศของตนเองและ หรือบุตร และศึกษาต่อของบุตรในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในต่างประเทศ โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี ณ วันยื่นขอกู้ ได้รับวงเงินกู้ต่ำสุด 20,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท รวมถึงเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือแบบ Notebook พร้อมอุปกรณ์ประกอบ โดยจะได้รับวงเงินกู้ตามที่จ่ายจริง แต่รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ คือ สามารถยื่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกันในการยื่นกู้ และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ สมาชิกสามารถใช้สิทธิยื่นกู้ได้เมื่อ หน่วยงานทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับธนาคารกรุงไทย และออกหนังสือรับรองสิทธิให้สมาชิก เพื่อประกอบการยื่นกู้
สมาชิก กบข.ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ และ กรุงไทยโฟนเซอร์วิส 1551 หรือ ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 และทาง member@gpf.or.th
การออมและการลงทุนต่างกันอย่างไร
การออมเป็นการเก็บเงินที่มีอยู่ อาจเป็นในรูปแบบของการฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการออมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ และบัตรเงินฝากธนาคาร ที่ถูกมองว่ามีความสะดวก ปลอดภัย และมั่นคง และคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการจัดสรรเงินออมไว้ในระบบเงินฝากเพื่อให้สามารถเบิก ถอน มาใช้จ่ายในยามที่ต้องการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน(ดอกเบี้ย) ก็อาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการตอบแทนด้วยความมั่นคงของการเก็บเงินนั้นไว้แทน
การลงทุน คือการแปรสภาพเงินออมให้กลายเป็นเงินลงทุน เพื่อผลตอบแทนหรือความพึงพอใจที่คาดว่าจะได้รับกลับมามากขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม ดังนั้นเมื่อตัดสินใจที่จะลงทุน นั่นหมายถึงอาจมีโอกาส ขาดทุน รวมอยู่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากการออม เพราะสิ่งที่ลงทุนไปไม่ได้มีการรับประกันเงินต้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อความพึงพอใจในการได้ใช้ทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น การซื้อรถ หรือการซื้อสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ การลงทุนด้วยการประกอบธุรกิจที่เป็นเจ้าของกิจการเอง หรือร่วมลงทุนกับเพื่อน เพื่อก่อให้เกิดรายได้ หรือเป็นการลงทุนซื้อหลักทรัพย์โดยคาดหมายว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตเพิ่มเติมขึ้นมา เหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจจะได้รับ หรือไม่ได้รับทั้งความพอใจ รายได้ หรือผลตอบแทน
อย่างไรก็ตามเราควรจัดสรรทั้งเงินออมและเงินลงทุนให้เหมาะสม เพื่อให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้นมา และยังมีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือในยามเกษียนด้วย
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
เมื่อคิดจะซื้อรถสักคัน (1)
รถยนต์ในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตไปแล้ว เพราะการเดินทางด้วยบริการที่ทางภาครัฐมีให้อาจจะยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ หรือ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจที่ดึงดูดให้เราใช้บริการได้ ดังนั้น การซื้อรถไว้ใช้สักคัน จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญก้อนแรกของชีวิตคนทำงานหลาย ๆ คนเลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อรถนั้น อยากจะบอกว่ามีหลายๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่คุณจะต้องพิจารณาก่อน และเมื่อได้ตัดสินใจแล้วว่าจะซื้อรถคันไหน ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ไม่น้อย เช่น จะซื้อด้วยวิธีใด ด้วย เงินสด หรือ จะซื้อแบบผ่อนแล้วถ้าผ่อนนั้นจะผ่อนกับสถาบันการเงินไหน หรือจะต้องวางดาวน์เท่าไร สารพัดที่ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่งั้นอาจเกิดโอกาสที่จะเสียเงินไปแล้วไม่มีความสามารถพอ
ข้อแนะนำก่อนการซื้อรถ
1.พิจารณาสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยของเรา
เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อย เช่น ถ้าบ้านคุณน้ำท่วมอยู่เสมอ คุณควรจะเลือกรถที่สามารถลุยน้ำได้ หรือมีถนนที่จะไปมาสามารถใช้การได้ดี รถเข้าออกไปสะดวก ไม่ใช่อยากซื้อรถแต่ถนนเข้าบ้านไม่ดี หรือ ไม่มีที่จอดรถให้จอด หรือมีที่จอดแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นค่าจอด เป็นต้น
2.ประเมินกำลังซื้อของคุณเอง
คุณควรจะวางแผนการเงินในการซื้อรถก่อน อาจจะใช้โปรแกรมคำนวณจากเว็บไซต์ หรือ ปรึกษาผู้ชำนาญการว่าจำนวนเงินต้องผ่อนชำระรถในแต่ละเดือนนั้น เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ที่สำคัญจะต้องไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ปกติแล้วจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าผ่อนรถสูงสุดนั้นไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ประจำต่อเดือน ซึ่งถ้าเรามีรายจ่ายเรื่องอื่น ๆ อยู่แล้ว ก็ต้องคิดให้หนัก และระยะเวลาที่เราจะมีรายได้มาซื้อ หรือ ผ่อนชำระ ก็ต้องคิดด้วยเช่นกัน
3.เลือกรถที่เหมาะสมกับคุณที่สุด
ทั้งขนาด สมรรถนะ ความปลอดภัย ความสวยและรูปลักษณ์ของรถ และการประหยัดน้ำมัน จะต้องดูประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เช่น ถ้าส่วนใหญ่แล้วคุณเดินทางอยู่ภายในเมืองเท่านั้นไม่ได้ไปต่างจังหวัด ก็ควรจะเลือกรถขนาดเล็กแบบที่ใช้ในเมือง หรือที่เรียกกันว่า city car หรือถ้าเป็นคนมีครอบครัวแล้ว ซึ่งจะต้องมีผู้โดยสารหลายคนรวมทั้งสัมภาระต่าง ๆ ด้วย คุณก็อาจจะเลือกรถที่ขนาดใหญ่หน่อย มีพื้นที่ภายในมากขึ้น โดยคุณควรจะเลือกรถไว้สัก 3 คันในใจ ทำการเปรียบเทียบก่อนที่จะตัดสินใจ
4.เผื่อค่าใช้จ่ายไว้ใช้ในการดูแลรักษารถยนต์
การมีรถนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอย่างแน่นอน ตั้งแต่ค่าบำรุงรักษารถ เช่น เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ค่าซ่อมรถ และถ้าซื้อรถใหม่ ในระยะ 4 ปีแรกนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไม่สูงนัก แต่ถ้าไปซื้อรถเก่าหรือรถมือสองมาใช้ นั้นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาก็จะสูงกว่า ดังนั้น จะต้องคิดและกันเงินค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ด้วย ส่วนจะต้องเตรียมกันเงินไว้เป็นจำนวนเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพรถที่ซื้อมา เช่น ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นนั้นค่าใช้จ่ายก็จะน้อยกว่ารถยุโรปซึ่งก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 2-3 เท่า นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีกด้วย
ที่ยกมานี้ยังไม่ครบทุกข้อของการคิดจะซื้อรถยนต์สักคัน แต่ยังมีอีกหลายประการ ซึ่งจะได้กล่าวในสัปดาห์ต่อไป ทำให้หลายคนที่ไปดูรถยนต์ช่วงนี้อาจจะต้องคิดแล้วคิดอีก ไม่ใช่ว่ารถสวย ดาวน์น้อย ผ่อนได้นานเพียงเท่านั้น เพราะการมีรถยนต์สักคันนำมาซึ่งความสะดวกก็จริง แต่ความสะดวกต้องแลกกับค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย
คิดให้นาน ๆ ก่อนซื้อรถสักคันและจะได้มั่นใจได้ว่า เราใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า สมกับเป็นคน "คิดเป็น ใช้เป็น"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2547
คอลัมน์ Financial Planing โดย คุณอมฤดา สุวรรณจินดา.
หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :-
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
หรือ email: member@gpf.or.th
หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ