ยอดซื้อโฆษณาทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 8% แต่น้ำพัดโฆษณาเมืองไทยตกฮวบ 18%

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2012 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--นีลเส็น ยอดซื้อโฆษณาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไตรมาสที่สี่ ปี 2011 เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2010 ยอดซื้อโฆษณาของประเทศไทยในไตรมาสเดียวกันนี้ตกฮวบ 18 เปอร์เซ็นต์ โดยโทรทัศน์ลดลง 19% ตามมาด้วยนิตยสาร (-18%) และ หนังสือพิมพ์ (-15%) จากการศึกษาของนีลเส็นเกี่ยวกับมูลค่ายอดการซื้อโฆษณาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ยอดซื้อโฆษณาโดยภาพรวมทั้งภูมิภาคยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2011 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่สี่มีอัตราการเติบโตเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2010 สูงขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมองภาพรวมของทั้งปี มีการเติบโตขึ้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มูลค่ายอดการซื้อโฆษณาตกฮวบอย่างน่าตกใจถึง 18 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ผ่านมา รายงาน Southeast Asia Quarterly Advertising Index ของนีลเส็นชี้ว่ามูลค่ายอดการซื้อโฆษณาของทั้งภูมิภาค* ในปี 2011 มีมูลค่าประมาณ 19พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 4,980 ล้านเหรียญ ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มียอดการซื้อโฆษณามูลค่าสูงที่สุด โดยคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อทั้งภูมิภาค ในขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าการซื้ออยู่เพียง 13% ในไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 622 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19.05 พันล้านบาท) มูลค่าการซื้อโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ขยับขึ้นอีก 8 เปอร์เซ็นต์จากภาพรวมของทั้งภูมิภาคเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2010 คิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อโฆษณาทั้งหมด อย่างไรก็ดี มูลค่าการซื้อสื่อทั้งโทรทัศน์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยตกลงทั้งหมดในไตรมาสที่ผ่านมา โดยโทรทัศน์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตกลงถึง 19 เปอร์เซ็นต์เหลือมูลค่าการซื้ออยู่ที่ 425 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการซื้อในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ตกลง 18 และ 15 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ Unilever ยังคงครองแชมป์ผู้ลงสื่อโฆษณามูลค่ามากที่สุดในไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมา ตามมาด้วย Procter & Gamble และสำนักนายกรัฐมนตรี** เอริกา บอยด์ กรรมการผู้จัดการฝ่าย Advertising Solutions ของนีลเส็นกล่าวว่า “ไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมาจัดว่าเป็นไตรมาสที่ท้าทายมากสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเกิดทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ตามมา ในด้านของประเทศไทย เรามองว่าตัวเลขที่ลดลงนั้นเป็นเพราะว่าสื่อต่างๆ เพิ่มเวลาชั่วโมงช่าวมากขึ้นในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่เองก็ต่างชะลอตัวการลงโฆษณาเนื่องจากต้องการประเมินสถานการณ์วิกฤตให้แน่นอน จากสถิติแล้ว มีเพียงองค์กรของรัฐบาลและธุรกิจทางการสื่อสารคมนาคมเท่านั้น ที่มีมูลค่าการซื้อสื่อเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ ซึ่งอาจเป็นเพราะความพยายามในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมให้กับผู้บริโภคและประชาชนให้มากที่สุด”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ