นักบัญชีทุ่มทั้งแรงกายแรงใจ ฮึด! สู้ สอบ CPA

ข่าวทั่วไป Monday March 12, 2012 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักบัญชีบางท่านอาจผ่านการทดสอบความรู้ฯมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่ย่อท้อกับการสอบ และไม่เคยคิดว่าขาดทุนที่เสียเงินไปกับการสมัครสอบ แต่กลับคิดว่านั่นคือกำไรชีวิต การทดสอบความรู้ขอเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเมื่อวันที่ 10-11 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้า แม้บรรยากาศการสอบในวันแรกจะร้อนอบอ้าว ประกอบกับวันที่สองมีฝนตกโปรยปรายลงมาในช่วงเช้า ก็ไม่มีผลกระทบกับการเตรียมตัวรอสอบของนักบัญชีเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนักบัญชีบางท่านเดินทางมาจากต่างจังหวัดไม่คุ้นเคยกับเส้นทางในกรุงเทพฯ จึงเผื่อเวลาหลงทาง เผื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน มานั่งรอเข้าห้องสอบกันตั้งแต่เช้า บ้างก็นั่งอ่านหนังสือไปกินข้าวไป บ้างก็นั่งติวกับเพื่อนๆ ที่มาสอบด้วยกัน สำหรับนักบัญชีรุ่นใหม่ไฟแรงมีการจับกลุ่มนั่งติวหนังสือกันในกลุ่มเพื่อนๆ ที่มาสอบ จากการสอบถามทราบว่าระยะเวลาในการเตรียมตัวสำหรับการอ่านหนังสือสอบนั้นมีเพียง 1 เดือนเท่านั้น และไม่ได้เข้าคอร์สติวก่อนสอบใดๆทั้งสิ้น ซึ่งการสอบวิชาการสอบบัญชี 1 เป็นการสอบครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้เคยสอบวิชาอื่นมาบ้างแล้ว “มารอสอบกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นหรือรู้สึกอะไรกับการสอบเป็นพิเศษ แต่ในทางกลับกันกลับรู้สึกไม่พร้อมมากกว่าที่มีการเลื่อนการทดสอบมาตั้งแต่ตอนที่น้ำท่วม จากการสอบวิชาอื่นๆ มาก็มีบางวิชาที่ยากมาก ซึ่งบางวิชาก็อยู่ในระดับที่พอทำได้ บางครั้งวิชาที่มั่นใจว่าจะผ่านกลับไม่ผ่าน ส่วนวิชาที่ไม่มั่นใจกลับกลายเป็นผ่าน ส่วนความยากง่ายของการสอบนั้นคิดว่าแล้วแต่ข้อสอบของรอบที่สอบมากกว่า” ทางด้านนางกันธิมา สมพงษ์มิตร เจ้าของสำนักงานทำบัญชี ภูเก็ต แอ็คเค้าน์ติ้ง เซ็นเตอร์ ผู้เข้าทดสอบความรู้ขอเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กล่าวว่า ตนเปิดสำนักงานบัญชีอยู่ที่ภูเก็ต เป็นผู้ทำบัญชี และเป็นผู้สอบด้วย คือเป็นทีเอ ที่มาเข้าทดสอบในครั้งนี้ก็เพื่ออยากจะพัฒนาความรู้ของตนเองให้มากขึ้น โดยลงสอบทั้งหมด 7 วิชา “เราอ่านวิชาเดียวก็เหมือนได้อ่านทุกๆวิชา ตามความรู้สึกของตัวเอง เหมือนแต่ละวิชามันมีความเชื่อมโยงกันในส่วนของเนื้อหาวิชา ไหนๆ เรามีโอกาสได้อ่านสำหรับการเตรียมตัวสอบแล้ว เราก็เลยลงทั้ง 7 วิชา อย่างน้อยถึงเราทำไม่ได้ เราก็จะได้รู้แนวข้อสอบเอาไว้ใช้ในการสอบคราวหน้าได้” การสอบครั้งนี้ไม่ได้เป็นการสอบครั้งแรก และครั้งที่ผ่านๆมาก็ไม่ได้เข้าติวก่อนสอบกับสถาบันใด เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้ามาติวก่อนสอบในกรุงเทพฯ การเตรียมตัว ส่วนใหญ่จึงต้องอ่านหนังสือ และซ้อมทำแบบฝึกหัดเอง ซึ่งโดยมากหนังสือที่อ่านจะเป็นหนังสือของสภาวิชาชีพบัญชีฯเป็นส่วนใหญ่ “เพื่อนแนะนำให้เข้าไปดูในเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชีฯ เกี่ยวกับรายละเอียดการติวก่อนสอบ ซึ่งที่ผ่านมา 4 ครั้ง ไม่เคยติวแล้วก็ไม่เคยสอบผ่านเลย จึงนึกสงสัยในตนเอง ว่าทำไมตนเองจึงสอบไม่ผ่านสักที เราเขียนอะไรผิด หรือเราเขียนอะไรไม่ถูกต้อง เลยคิดว่ารอช้าไม่ได้แล้ว สมควรที่จะเข้ารับการติวสำหรับการทดสอบความรู้ในครั้งนี้ แต่การสอบทีเอที่ผ่านมาเราอ่านเองทั้งหมด ซึ่งเราก็สอบผ่านแล้ว แต่พอมาสอบในส่วนของการทดสอบความรู้ขอเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แม้จะอ่านหนังสืออย่างหนักแต่ก็สอบไม่ผ่านเลย” อีกทั้งการทดสอบมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าโรงแรม ค่าสมัครสอบ และยังต้องเสียเวลานั่งอ่านหนังสือ เสียเวลาในการเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-ภูเก็ต จึงตัดสินใจเข้ารับการติวที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ และหวังว่าอย่างน้อยน่าจะสอบผ่านสักครึ่ง “ไม่ได้หวังอะไรมาก แต่อยากให้สอบผ่านสักวิชาสองวิชา เวลามาติวก็เดินทางจากภูเก็ตขึ้นมาติวทุกวิชากับสภาวิชาชีพบัญชีฯ บางครั้งก็รู้สึกท้อ แต่คิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสัก 3 ปี หากสอบไม่ได้จริงๆ ก็จะเลิกสอบแล้ว เพราะนานมาก จริงๆ แล้วถึงมาสอบแล้วสอบไม่ได้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันขาดทุนหรอกนะ เพราะว่ามันเหมือนกับว่าทำให้เราได้ติดตามข่าว ถ้าเราไม่มาสอบนี่มันไม่มีอะไรมากระตุ้นตัวเอง เราจะได้รู้ว่ามีอะไรใหม่ๆออกมาบ้าง ในการมาสอบครั้งนี้เดินทางมาไกลจึงมาเช่าโรงแรมอยู่ คิดว่าน่าจะมาก่อนเวลา เพราะเราไม่ใช่คนพื้นที่ มีคนบอกว่ารถติดก็เลยมาก่อนดีกว่า ดีกว่านั่งลุ้นอยู่ในรถว่าเมื่อไรจะถึง ฝนจะตกรถจะติดไหม เรามาถึงก่อนมาทานข้าว มาอ่านหนังสือ เราจะได้ไม่เครียดมาก” นางกันธิมา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้ติวกับสภาวิชาชีพบัญชีฯ ตนเองได้วิธีการในการตอบคำถามเพิ่มมากขึ้น ส่วนจะมีความมั่นใจในการติวของสภาวิชาชีพบัญชีฯ แค่ไหนต้องรอดูผลการสอบครั้งนี้ก่อน เนื่องจากสอบมาหลายครั้งแล้ว เลยไม่อยากคาดหวังอะไรมาก คิดว่าถ้าพยายามเต็มที่กับการทำข้อสอบก็น่าจะผ่าน ส่วนวิชาที่รู้สึกว่าอาจทำไม่ได้ คือวิชาคอมพิวเตอร์ เพราะไม่ค่อยมีประสบการณ์ทางด้านนี้ อีกทั้งไม่เคยใช้โปรแกรม ถึงจะอ่านแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ และวิชาที่กังวลคือบัญชี 1 บัญชี 2 เนื่องจากมีมาตรฐานเยอะมาก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้จำได้ไม่หมด บางทีมาตรฐานที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ก็จำสลับกับมาตรฐานเก่า จึงเกิดความสับสนกับมาตรฐานเก่าและใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชีรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตให้ได้ แม้ว่าจะสอบมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม ด้วยความตั้งใจ และความพยายาม ในการพัฒนาความรู้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการประกอบวิชาชีพบัญชีของตนเองให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ