กทม. กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดบางประเภทสองฟาก ถ.ราชพฤกษ์ และ ถ.กัลปพฤกษ์

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2004 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.47) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2547 ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดบางประเภท ริมถนนสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรเกษม — ติวานนท์ - รัตนาธิเบศร์ (ถนนสาย ช.2) ทั้งสองฟาก ฯ พ.ศ…. ในวาระที่สองและวาระที่สาม
นายสุธา นิติภานนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตภาษีเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว กล่าวว่า เนื่องจากถนนราชพฤกษ์ เป็นถนนที่ก่อสร้างในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครในแนวเหนือ-ใต้เพื่อเชื่อมกับถนนสายหลักที่สำคัญ ได้แก่ ถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี ถนนนครอินทร์ ที่ข้ามสะพานพระราม 5 และถนนรัตนาธิเบศร์ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรในกทม.และปริมณฑล ในปัจจุบันบริเวณริมถนนสายนี้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารยังไม่หนาแน่น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การผังเมือง การอำนวยความสะดวกในด้านการจราจร การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ ควบคุมความหนาแน่นของอาคาร สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในระยะ 15 เมตร ทั้งสองฟากถนนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
นอกจากนี้ที่ประชุมสภากทม.ยังได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดบางประเภท ริมถนนสายเชื่อมระหว่างถนนตากสิน-เพชรเกษม กับถนนกาญจนาภิเษก (ถนนสาย ง.1) ทั้งสองฟากฯ พ.ศ… ในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยนายชัยวุฒิ จริยวิโรจน์สกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว กล่าวว่า เนื่องจากถนนกัลปพฤกษ์ เป็นถนนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครมีจุดเชื่อมต่อถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ ถนนสุขาภิบาล 1 ถนนกาญจนาภิเษก ดังนั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การผังเมือง การอำนวยความสะดวกในด้านการจราจร การรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม และควบคุมความหนาแน่นของอาคาร สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในระยะ 15 เมตร ทั้งสองฟากถนนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ทั้งที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ