ทริสเรทติ้งจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 5,500 ล้านบาท “ธ. ธนชาต” ที่ระดับ “AA-”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2012 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 5,500 ล้านบาท “ธ. ธนชาต” ที่ระดับ “AA-”และคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “AA-/Stable” & หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ชุดปัจจุบันที่ระดับ “A+” และ “A” บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,500 ล้านบาทของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A+” และ “A” ตามลำดับ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการซื้อกิจการและความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวมากกว่า อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ในธุรกิจหลัก อันได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อ ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และกลยุทธ์ที่เอื้อต่อการเพิ่มความแข็งแกร่งในการผสานกำลังทางธุรกิจของกลุ่มธนชาต นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากประเทศแคนาดา คือ Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 49% อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของธนาคารถูกลดทอนลงจากการมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Asset - NPA) ในระดับสูง ตลอดจนความไม่แน่นอนของผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ การเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของกลุ่มธนชาตอาจถูกจำกัดด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของทั้งภาวะการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก อันดับเครดิตระดับ “A” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงต่อการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสะสมผลตอบแทน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567 ทั้งนี้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในงวดบัญชี 6 เดือนล่าสุดก่อนถึงวันกำหนดชำระดอกเบี้ยและธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลา 6 เดือนก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนดอกเบี้ยสะสม แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนบทบาทสำคัญของธนาคารในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าการผสานกำลังที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะช่วยให้สถานะทางการตลาดของธนาคารมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งธนาคารจะสามารถปรับปรุงคุณภาพของสินทรัพย์ให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ การเติบโตอย่างสม่ำเสมอของรายได้ การบรรลุวิธีแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่ออันดับเครดิตของธนาคาร นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนความคาดหมายว่าการลดลงของวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงโดยทันทีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 ณ สิ้นปี 2554 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 7.9% และเงินฝากที่ 6.0% ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ณ สิ้นปี 2554 มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 26% ด้วยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 286.5 พันล้านบาท (รวมสินเชื่อของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) ธนาคารควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทยจนสำเร็จตามแผนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ส่งผลให้ธนาคารมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภาคสินเชื่อธุรกิจ สัดส่วนของสินเชื่อมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นจากการกระจายตัวของสินเชื่อไปสู่ธุรกิจทุกภาคส่วน อีกทั้งยังช่วยลดการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกด้วย สัดส่วนสินเชื่อธุรกิจในปี 2554 คิดเป็น 38% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2552 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 62% ลดลงจาก 78% เมื่อสิ้นปี 2552 นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าเงินฝากขนาดใหญ่และเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคารนครหลวงไทยซึ่งจะช่วยสนับสนุนและขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินในกลุ่มธนชาต ผ่านช่องทางและเครือข่ายต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารจะมีมูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจ (Franchise Value) ที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตามความสามารถของธนาคารในการผสานประโยชน์ทางธุรกิจภายในกลุ่มธนชาตยังต้องใช้เวลาพิสูจน์สักระยะหนึ่ง ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานะการเงินของธนาคารธนชาตดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2553 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 8,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116% จาก 4,056 ล้านบาทในปี 2552 อันเป็นผลจากการควบรวมกิจการ ธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset - ROAA) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity - ROAE) ในปี 2553 เท่ากับ 1.34% และ 17.51% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.00% และ 16.48% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารในปี 2554 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการของทริสเรทติ้งในช่วงเวลาการควบรวมกิจการ โดยธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2554 จำนวน 7,671 ล้านบาท ลดลง 13% จาก 8,777 ล้านบาทในปี 2553 ROAA และ ROAE เท่ากับ 0.87% และ 10.37% ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมทั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 38.75% ในปี 2553 เป็น 40.46% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในระยะกลางภายหลังการควบรวมกิจการแล้วเสร็จสมบูรณ์ สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ภายหลังการควบรวมกิจการนั้น ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ณ สิ้นปี 2554 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็น 5.92% ของเงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 3.04% ในปี 2552 ในขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปี 2554 คิดเป็น 0.71 เท่าของผลรวมของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพิ่มขึ้นจาก 0.31 เท่าในปี 2552 ซึ่งสะท้อนถึงระดับของเงินทุนและสำรองสำหรับรองรับหนี้เสียที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระดับเงินกองทุนของธนาคารยังคงเพียงพอที่จะรองรับการเสื่อมค่าลงของสินทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ คณะผู้บริหารยังคงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถดูแลและควบคุมคุณภาพของสินทรัพย์มิให้เสื่อมถอยลงภายหลังการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ในด้านแหล่งเงินทุน ธนาคารมีแหล่งเงินทุนที่กระจายตัวดีขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการ อีกทั้งยังมีโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินที่สอดคล้องกันมากขึ้น เงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในช่วงปี 2553 จำนวน 35.8 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ระดับ 8.52% เพิ่มขึ้นจาก 6.44% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2554 เท่ากับ 9.28% และ 13.72% ตามลำดับ ลดลงจาก 11.71% และ 14.75% ในปี 2553 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการหักค่าความนิยมออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ทริสเรทติ้งกล่าว ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: TBANK155A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A+ TBANK194A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A+ TBANK196A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A+ TBANK197A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A TBANK204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A+ TBANK247A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 คงเดิมที่ A หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2556 AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ