บอร์ดตลท.มีมติปรับเกณฑ์ย้ายบจ. REHABCO กลับหมวดปกติ โดยพิจารณากระแสเงินสดโดยรวมของกิจการ

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2004 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บอร์ดตลท.มีมติปรับเกณฑ์ย้ายบจ. REHABCO กลับหมวดปกติ โดยพิจารณากระแสเงินสดโดยรวมของกิจการ พร้อมอนุมัติตลท.เดินหน้าพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหุ้นกู้ถึงสิ้นปี 2548
นางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการตลท. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ได้พิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาย้ายบริษัทจดทะเบียนจากหมวด REHABCO (บริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ) กลับหมวดอุตสาหกรรมปกติ และได้ปรับแนวทางจากเดิมที่พิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operation: CFO) ภายหลังรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายเป็นบวกเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่ง มาเป็นการพิจารณากระแสเงินสดโดยรวมของกิจการ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าบริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
เดิมหลักเกณฑ์การพิจารณาบริษัทที่จะย้ายจากหมวด REHABCO ไปยังหมวดปกติ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2546 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 5 หลักเกณฑ์ ได้แก่
บริษัทต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก
มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในธุรกิจหลัก 3 ไตรมาส ติดต่อกันหรือ 1 ปี
มีการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าร้อยละ 75 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัทและสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ภายหลังรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายมากกว่า 0
มีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
เมื่อคณะกรรมการตลท.ได้ปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะทำให้บริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีความแข็งแรงเพียงพอสามารถย้ายกลับหมวดปกติได้ โดยไม่ติดเกณฑ์ที่ CFO ของบริษัทต้องเป็นบวกเท่านั้น
"เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าเกณฑ์ในเรื่องของ CFO ไม่ใช่ปัจจัยหลักหรือปัจจัยเดียว ที่ตลท.จะนำมาตัดสินว่าบริษัทมีสภาพคล่องหรือฐานะการเงินดี และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะย้ายกลับหมวดปกติ เพราะการที่บริษัทมี CFO เป็นลบ หรือติดลบ อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เพราะปัจจุบัน หลายบริษัทที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้ว และเริ่มดำเนินธุรกิจตามปกติ ก็อาจมีความต้องการที่จะเร่งขยายงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ CFO ติดลบ นอกจากนี้ การพิจารณากระแสเงินสดโดยรวมของกิจการก็จะทำให้เห็นภาพรวมฐานะการเงินของบริษัทได้ครอบคลุมมากกว่า" รองผู้จัดการกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการตลท. ได้อนุมัติแผนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ พร้อมทั้งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ออกไปถึงสิ้นปี 2548 ซึ่งขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุด 31 มีนาคม 2547 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนที่มีการออกหุ้นกู้ นำเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น
"คณะกรรมการตลท.ได้อนุมัติแผนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมุ่งพัฒนา 5 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุน ด้านการเพิ่มจำนวนและความหลากหลายของตราสารหนี้ ด้านการปรับปรุงระบบซื้อขายและการเข้าถึงข้อมูล ด้านการพัฒนาข้อมูลการลงทุน และด้านการให้ความรู้เรื่องตราสารหนี้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง" นางภัทรียากล่าว
แผนการดำเนินงานที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มจำนวนบริษัทสมาชิกที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบัน อาทิ ธนาคาร กองทุนรวม ส่งคำสั่งซื้อขายตราสารหนี้ได้เองเพื่อความสะดวก นอกจากนี้ จะเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายตราสารหนี้ โดยจะประสานงานกับธนาคารให้มีการทำงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อทำหน้าที่Market maker รวมทั้ง ยังได้ศึกษาแนวทางการขอยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการซื้อขายตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น
ด้านการเพิ่มจำนวนและความหลากหลายของตราสารหนี้ มีการจัดทีมการตลาดเพื่อส่งเสริมการเพิ่มจำนวน และประเภทของตราสารหนี้ที่เข้าจดทะเบียนนอกเหนือจากหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ รวมทั้งจะศึกษาแนวทางการนำตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IFC (International Finance Corporation) ธนาคารโลก เป็นต้น เข้าจดทะเบียนด้วย
"เพื่อให้บริการข้อมูลแก่ผู้ลงทุนได้มากขึ้น ตลท.จะเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ให้บริษัทสมาชิก จากปัจจุบัน 100 จอ เป็น 300 จอ รวมทั้ง จะพัฒนาระบบซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นกู้ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และจะเพิ่มข้อมูลเรียลไทม์ในระบบข้อมูล SET Smart และเว็บไซต์ จากปัจจุบันที่มีการเผยแพร่ในรูปแบบตัววิ่งแบบเรียลไทม์ทางหน้าจอโทรทัศน์ของไอทีวี โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในภายในปีนี้ ส่วนด้านการให้ความรู้ จะมีการจัดกิจกรรมและจัดทำสื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง" รองผู้จัดการกล่าว
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการตลท. ยังได้อนุมัติการเตรียมแผนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในระยะยาว เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณตราสารหนี้จากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมีเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดรองตราสารหนี้ในต่างประเทศได้
"คณะกรรมการตลท.มีความเห็นว่า ตลาดรองตราสารหนี้ในประเทศไทยต้องปรับตัวให้พร้อมรองรับปริมาณหุ้นกู้ที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งพันธบัตรจากภาครัฐบาลและเอเชียนบอนด์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เริ่มทยอยออกมาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว หากไม่มีการเตรียมการที่ดี ตราสารหนี้ที่มีจำนวนมากขึ้นจะหันไปจดทะเบียนและไปใช้บริการในตลาดรองตราสารหนี้ในต่างประเทศ ตลท.จึงต้องเตรียมการให้ตลาดรองตราสารหนี้ของไทยสามารถแข่งขันกับตลาดรองตราสารหนี้ในต่างประเทศได้ " นางภัทรียากล่าว
ตลาดตราสารหนี้ได้เปิดการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา โดยมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน 7 บริษัท มูลค่า 152,648 ล้านบาท ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายตราสารหนี้อย่างสม่ำเสมอ 4 ราย ได้แก่ บล.ไทยพาณิชย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) บล. ธนชาติ และ บล. เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย โดยหุ้นกู้ที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือหุ้นกู้ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 - 2036 / รุ่งรัชนี อริยภิญโญ โทร.0-2229-2659
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 - 2037 / ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 - 2049--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ