มันแกวเงินล้านพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Friday March 30, 2012 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานเกษตร จ.มหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ส่งเสริมการปลูกมันแกวให้เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรและรายได้เข้าสู่จังหวัด กว่าปีละ 30 ล้านบาท ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า มันแกวเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงคู่กับจังหวัดมหาสารคาม โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบรบือ และอำเภอกุดรัง ที่ปลูกกันมานานกว่า 40 ปี ด้วยสภาพดินร่วนปนทราย ทำให้มันแกวหัวสดในพื้นที่แห่งนี้รสชาดหวานกรอบกว่าแหล่งอื่น อีกทั้งเปลือกยังมีสีขาวนวล โดยก่อนหน้านี้เคยมีการจัดงานเทศกาลกินมันแกวมาแล้ว แต่ขาดความต่อเนื่องและขาดการสนับสนุนให้คงความเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น สำนักงานเกษตรอำเภอบรบือ และอำเภอกุดรังพร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้หันไปให้ความสนใจที่จะรักษาพืชเอกลักษณ์ประจำถิ่นเอาไว้อย่างจริงจัง พร้อมมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มปลูก รวมพื้นที่ กว่า 2,000ไร่ ในรอบ 1 ปี จะปลูกมันแกวได้ 3 รุ่น คือปลูกต้นฝน ระหว่างเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 10 ตัน รุ่น 2 ปลูกปลายฝน ระหว่างเดือน กันยายน-เดือนตุลาคม ผลผลิตจะได้ 5-6 ตันต่อไร่ และรุ่น 3 ปลูกฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลผลิตจะอยู่ที่ 4-5 ตันต่อไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 90-120 วัน ราคาขายกิโลกรัมละ 3-9 บาท ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกมันปลายฝนและฤดูแล้งจะขายได้ราคาดี เนื่องจากผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ราคาจำหน่าย สูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาท แต่พอหลังเทศกาลจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-5 บาท เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การปลูกมันแกว 1 ไร่ เกษตรกรจะใช้เงินลงทุน 10,000 บาท ส่วนหนึ่งเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ไร่ละ 2,500 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าไถเตรียมดิน ปุ๋ยเคมี ค่าดูแลรักษาและค่าเก็บเกี่ยว สร้างรายได้ 15,000- 30,000 บาทต่อไร่ และสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม กว่าปีละ ๓๐ ล้านบาท จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เกษตรกรที่สนใจการปลูกมันแกว ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตรโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ