หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กับการสร้างสันติสุข

ข่าวทั่วไป Thursday March 24, 2005 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ เป็นกำลังของกองทัพเรือที่จัดกำลังหลักมาจากกรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน มีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้นำทหารนาวิกโยธินยกพลขึ้นบก ณ หาดบ้านทอน ในการฝีก "ทักษิณ ๑๒" ได้มีพระราชดำรัสว่า "ทหารนาวิกโยธิน ควรมาอยู่ที่นี่" กองทัพเรือจึงได้จัดตั้ง กรมทหารราบที่ ๓ ฯ ขึ้นในเวลาต่อมาและได้รพระราชทานพระบรมราชา นุญาตสถาปนาเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๑ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้จัดกำลังเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับเหล่าทัพอื่นในการรักษาความมั่นคงภายในและรับผิดชอบงาน ตามโครงการพระราชดำริ จำนวน ๑๑ ศูนย์ โดยใช้ชื่อว่า "หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้" (ฉก.นย.ภต.) และหลังจากเหตุการณ์ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ได้มีคำสั่งให้กองทัพเรือเพิ่มเติมกำลังขึ้นเป็นลำดับ จัดตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส รับผิดชอบ ๑๑ อำเภอ ต่อมาภายหลังมีการจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ขึ้นจึงได้ปรับลดพื้นที่รับผิดชอบลงเหลือ ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอยี่งอ อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร โดยมีหน่วยเฉพาะกิจที่ ๓๑ หน่วยเฉพาะกิจที่ ๓๒ เป็นหน่วยขึ้นตรงและหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้เป็นหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ รับผิดชอบปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือนควบคู่ไปกับงานด้านการข่าวและยุทธการ เพื่อแยกประชาชนออกจากกองกำลังและแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบและพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน เพื่อดึงประชาชนให้มาสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมีการปฏิบัติที่ดำรงความมุ่งหมายที่จะเอาชนะการก่อความไม่สงบ "ที่หมู่บ้าน" เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่รับผิดชอบด้วยการสร้างความรักความเข้าใจ ความสามัคคี ลดความระแวงที่มีต่อกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในลักษณะการปฏิบัติงานร่วมกันของ พลเรือน ตำรวจ ทหารและประชาชน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหา และร่วมพัฒนาชุมชนของตน ตลอดทุกขั้นตอน ซึ่งในงบประมาณ ๒๕๔๘ นี้ได้กำหนดตำบลหลักที่จะพัฒนา ให้เกิดสันติสุขขึ้นอำเภอละหนึ่งตำบล เป็นอย่างน้อย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนหมดความหวาดระแวงและความหวาดกลัวร่วมคิดร่วมทำกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนให้เกิดสันติสุขอย่างเป็นรูปธรรมยั่งยืนถาวร--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ