สธ. เร่งเยียวยาเหยื่อคาร์บอมบ์ พบ 22% เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต

ข่าวทั่วไป Monday April 9, 2012 20:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กรมสุขภาพจิต นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นทางภาคใต้สร้างความสะเทือนขวัญให้กับพี่น้องชาวใต้ตลอดจนพี่น้องที่รับทราบเหตุการณ์ทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากการดูแลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายอย่างทันท่วงทีแล้ว การดูแลเยียวยาจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขจึงกำชับให้กรมสุขภาพจิตเร่งเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันทีเช่นเดียวกัน รมช.สธ. กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจย่อมเกิดขึ้น แต่ความสามารถของบุคคลในการที่จะปรับตัวแก้ไขปัญหาหรือภาวะวิกฤตเหล่านั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นกับพื้นฐานบุคลิกภาพเดิม มุมมอง ทัศนคติ ความเชื่อ ความศรัทธา วิธีการแก้ไขปัญหาชีวิตที่ผ่านมา ภาวะความเจ็บป่วย รวมถึงแหล่งสนับสนุนทางสังคมเดิมที่เคยมีอยู่ บุคคลส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 จะสามารถปรับตัวได้ในระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน แต่มีบางคนที่ไม่อาจแก้ไขภาวะเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง หรืออาจเกิดภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือจิตเวชตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรตวิตกกังวล โรคจิต ติดสารเสพติด เป็นต้น ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตเกิดขึ้น ถ้าได้มีการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกันตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้เข้าใจสภาวะ การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือปรับตัวได้ดีขึ้น และสามารถประเมินความต้องการเร่งด่วน ประสานถึงแหล่งสนับสนุนอื่นๆที่มีได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ที่สำคัญสามารถป้องกันภาวะความผิดปกติทางสุขภาพจิตหรือจิตเวชได้ หรือถ้ามีปัญหาแล้วก็สามารถให้การรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไปได้ในอนาคต รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรายงานผลการเยียวยาจิตใจในช่วงวันที 2-3 เมษายน ที่ผ่านมา โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ขณะนี้ได้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวม 125 คน ประกอบด้วย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 36 คน ญาติ จำนวน 19 คน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ จำนวน 50 คน ผู้ช่วยเหลือ จำนวน 8 คน และประชาชนทั่วไป จำนวน 12 คน ซึ่งพบว่า ผู้ได้รับการเยียวยา ประมาณ 27 คน หรือ ประมาณร้อยละ 22 มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้ อาการ 5 อันดับแรกจากการประเมินผู้ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.กังวลหวาดเสียว 2.ระแวดระวังไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อม 3. วิตกกังวล คิดวนเวียนซ้ำๆ 4.นอนไม่หลับ และ 5.โศกเศร้าต่อการสูญเสีย นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปีลงมาที่ได้รับการเยียวยา ร้อยละ 18 เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้กรมสุขภาพจิตลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายกาย ให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ประเมินคัดกรอง ค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายดูแลเยียวยาจิตใจให้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จำเป็นต้องดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญไปแล้ว 6 เดือน ติดต่อ: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถ. ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี โทร. 0 2590 8409 โทรสาร. 0 2149 5527

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ