กองทัพเรือ เสนอ ไฟใต้ ดับได้ด้วยความสามัคคี

ข่าวทั่วไป Friday May 14, 2004 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
"ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้เป็นสิ่งมีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ และดำรงชาติประเทศเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายเสีย …" พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ในปัจจุบันนี้ สังคมไทยเป็นสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในระดับสังคมเมืองใหญ่ เมืองเล็ก และในสังคมของชุมชนทั่วไป ผู้คนได้รับการศึกษามากขึ้น มีฐานะที่แตกต่างกันมากขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก รวมทั้งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมที่มีมาแต่ช้านาน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมมีความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหลายประการ จึงต้องอาศัยพลังความสามัคคีของคนในชาติเข้าร่วมกันแก้ไข เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคและพัฒนาบ้านเมืองไปข้างหน้า อย่างเช่นที่เราเคยใช้พลังแผ่นดิน พลังความสามัคคีของทุกฝ่ายในการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาแล้ว คำว่า "ความสามัคคี" นั้น มีความหมายลึกซึ้งเพียงใด คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจโดยทั่วกันอยู่แล้ว แต่ขอขยายความตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ "สามัคคี หมายความว่า ความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกันหรือที่พร้อมเพรียงกันทำ ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ" และในหนังสือวิชาการศาสนาและศีลธรรม ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพบก ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ได้อธิบายถึงความสามัคคี ไว้ว่า คำว่า สามัคคี หมายถึง กำลัง ๓ ประการ คือ กำลังกาย กำลังความรู้ และกำลังความดี คนที่จะมีสมรรถภาพในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและส่วนรวม จะต้องเป็นคนมีกำลังในตัวครบทั้ง ๓ ประการ ซึ่งผู้ที่มีกำลังครบ ๓ ประการ นี้ คือผู้มีกำลังสมบูรณ์ พร้อมที่จะเจริญก้าวหน้าในทางที่ประสงค์ คนเช่นนี้ ถ้าจะเปรียบกับผลไม้ก็เปรียบเหมือนผลไม้ที่ดีพร้อม คือ ลูกงาม เนื้อมาก รสอร่อย จึงเป็นผลไม้ที่มีราคาดี เพราะมีคนต้องการ และถ้าพิจารณาตามหลักธรรมทางศาสนาแล้ว กำลัง ๓ ประการนี้ ยังแบ่งคนออกเป็นชั้นอีกด้วย เช่น บัณฑิตชน ก็คือ กำลังความดี สามัญชน คือ กำลังความรู้ และพาลชน คือ กำลังกาย ซึ่งหมายถึง คนพาล เป็นคนที่นิยมใช้แต่กำลังกายอย่างเดียว ไม่ชอบใช้ความรู้และความดี แม้จะมีความรู้มาก แต่เวลาเกิดปัญหาที่จะต้องตัดสิน ก็จะตัดสินด้วยกำลังกาย มีการชกต่อยทุบตีกัน มีความพอใจในการใช้กำลัง ไม่ได้หมายความว่ามีความรู้หรือไม่ สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ยอมที่จะพึ่งความรู้ของผู้อื่นนั้นก็ไม่นับว่าเป็นพาลชน สำหรับสามัญชน คือ คนชั้นธรรมดาทั่ว ๆ ที่นิยมใช้ทั้งกำลังกายและกำลังความรู้ ซึ่งอาจจะใช้ทั้งในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ ส่วนบัณฑิตชนนั้น ถือว่าเป็นบุคคลชั้นสูงที่นิยมใช้กำลังเต็มทั้ง ๓ ประการ คนที่มีกำลังในตัวครบทั้ง ๓ ประการแล้ว นับว่าเป็นผู้ที่มีกำลังเต็มที่ แต่ก็ยังมีทางที่จะสร้างกำลังขึ้นได้อีกนั่นก็คือ การรวมกำลังกับคนอื่น ซึ่งเรียกว่า สามัคคี การรวมกำลังกับบุคคลอื่นนี้ ทำให้เราได้กำลังเพิ่มขึ้นมาอีกทาง นั่นก็คือ กำลังความสามัคคี ซึ่งถือว่า เป็นกำลังมหาศาลยิ่งกว่ากำลังส่วนบุคคล เพราะงานบางอย่างที่ไม่อาจทำได้ด้วยกำลังคน ๆ เดียว แต่ถ้าใช้กำลังของความสามัคคีเข้าช่วย ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม จะต้องจำไว้ด้วยว่า การรวมกำลังก็คือ การเข้าหุ้นทางกำลังกันนั่นเอง แต่ละฝ่าย จะต้องมีกำลังทั้ง ๓ เป็นทุนก่อน คนอื่นจึงจะเต็มใจเข้าหุ้นด้วย ถ้าเราไม่มีกำลังอยู่ในตัวเลย มีแต่คิดจะพึ่งคนอื่นก็เหมือนกับเราไม่มีทุน หากจะไปเข้าหุ้นค้าขายกับคนอื่น ก็จะไม่มีใครเล่นด้วย ในการปลูกฝังสมรรถภาพของบุคคล ทางศาสนาก็ได้วางแนวทางปฏิบัติให้แต่ละคนสร้างกำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความคิด และกำลังความสามัคคีด้วย ดังนั้น ถ้าจะดูคุณสมบัติของคน นอกจากจะดูกำลังสมรรถภาพในตัวของเขาแล้ว จะต้องดูว่าเขาเป็นคนที่มีความสามัคคี สามารถเข้ากับคนอื่นได้หรือไม่อีกด้วย สำหรับมูลฐานของความสามัคคี ก็คือ การที่คน ๒ ฝ่าย มีการรวมกำลังกัน มีความรักใคร่นับถือกัน ดังนั้น คนที่รักกันก็ต้องสามัคคีกัน ต้องพยายามถนอมน้ำใจของกันและกันไว้เสมอ ทำแต่สิ่งที่จะสนับสนุนความสามัคคี เว้นสิ่งที่จะทำลายความสามัคคีกัน คือควรเว้นการถือทิฐิมานะ ซึ่งก็คือ การถือรั้น ในความคิดเห็นของตน แม้รู้ว่าผิดแล้วก็ยังไม่ยอมแก้ไข นิสัยอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเกลียดชังได้ เว้นจากการเป็นคนหูเบา เชื่อในคำยุยงของคนอื่น ทำให้เห็นผิดเป็นชอบและเกิดแตกแยกกัน และ ยังไม่รู้จักบำเพ็ญตนเป็นคนดี คอยแต่หาความชอบด้วยการพูดจาใส่ร้ายคนอื่น เว้นการมองกันในแง่ร้าย คอยแต่จะโทษคนอื่น ควรจะรู้ว่าคนเรานั้นต่างมีทั้งดีและไม่ดี ถ้ามองแต่ในแง่ที่ไม่ดี ก็จะเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีของผู้นั้นอย่างเดียว เว้นการดูหมิ่นเหยียดหยาม แสดงกิริยาวาจา ดูหมิ่นคนอื่นโดยชั้นยศ โดยชาติกำเนิด โดยฐานะ หรือจะโดยประการใด ๆ ก็ตาม การดูหมิ่นกันนั้น เป็นการกระทำของคนโง่ และเป็นความประพฤติที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย และให้เว้นนิสัยที่ร้อนแรง เช่น การเป็นคนใจน้อย โกรธง่าย ทำตามใจตัวเอง ซึ่งเป็นนิสัยที่ทำให้คนอื่นไม่อยาก คบหาสมาคมด้วย
สำหรับสิ่งที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ ก็คือ การพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น พร้อมที่จะแก้ไขความคิดเห็นของตนเมื่อรู้ว่าผิด เป็นคนหนักแน่น เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งใดมา ก็ต้องใช้ความคิดที่สุขุมรอบคอบ ไม่หลงเชื่อคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ มองคนอื่นในแง่ดี รู้จักการให้เกียรติคนอื่น เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องรู้จักการขอโทษ และจะต้องเป็นผู้ที่มีนิสัยโอบอ้อมอารี เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ของคนอื่น ที่สำคัญ คือ ต้องรู้จักการให้อภัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แม้ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่คนในพื้นที่ต่างเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูล ปฏิสัมพันธ์ คบค้าสมาคมกัน จึงทำให้สามารถอยู่ร่วมกันมาได้อย่างสงบสุข โดยมิได้แบ่งแยกศาสนา เชื้อชาติ สามารถผสมผสานกลมกลืน เชื่อมร้อยวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างนั้นเข้าด้วยกันเป็นสังคมเดียว เพราะทุกคนตระหนักดีว่า เราต่างคือคนไทยที่อยู่ร่วมอาศัยบนแผ่นดินเดียวกัน มีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันเป็นประมุข จึงมีการยอมรับถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ต่างก็เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างเป็นอันดีเสมอมา เหตุการณ์ความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ ไม่ใช่เพียงชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ทุกศาสนิกชนล้วนแสดงจุดยืนออกมาตรงกันว่า ต้องประณามการกระทำของบุคคลกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกนอกศาสนา ที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม ดังนั้น พวกเราคนไทยต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของการยั่วยุของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีนี้ เราจะต้องเข้มแข็ง รู้จักข่มใจ มีสติและคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยสันติ ใช้ความรักความสามัคคีเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการดับไฟร้ายที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำความสันติสุขร่มเย็นกลับคืนสู่แผ่นดินไทยโดยเร็ว--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ