Lear & His 3 Daughters “เมื่อความรักเป็นบ่อเกิดแห่งโศกนาฏกรรม”

ข่าวบันเทิง Thursday April 12, 2012 13:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--B-Floor Theatre ฉลองครบรอบอายุ 13 ปี ‘บีฟลอร์’ กลุ่มละครร่วมสมัยชั้นนำของเมืองไทยขอจัดหนักเสนอละครเรื่องแรกประเดิมโปรเจ็กต์ 'Fright in Sight’ ด้วย ‘Lear & His 3 Daughters’ การแสดงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘King Lear’ บทประพันธ์อมตะของเชคสเปียร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก กษัตริย์เลียร์ผู้กำลังเดินทางเข้าสู่บั้นปลายสุดท้ายของชีวิตได้เรียกธิดาทั้งสามให้มาบรรยายถึงความรักที่แต่ละนางมีต่อพระองค์...แต่ใช่ว่าทุกคนจะผ่านการทดสอบ การแสดงชุด ‘Lear & His 3 Daughters’ ไม่ได้ดำเนินเรื่องตามอย่าง ‘King Lear’ ของเชคสเปียร์แต่อย่างใด หากได้มีการผสมผสานการเต้นรำร่วมสมัยเข้าไปเพื่อเป็นสื่อสำคัญในการบอกเล่าความคิดและความรู้สึกผู้กำกับฯ ซึ่งตั้งข้อสังเกตรวมถึงคำถามเกี่ยวกับความรักที่ถูกให้ค่าว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อบรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในอาณาจักรซึ่งปกครองโดยราชาพระองค์นี้ นี่คือการแสดงชิ้นแรกเพื่อเปิดตัวโปรเจ็กต์สุดพิเศษ ’Fright in Sight…สบตาความกลัว’ ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมด 4 ชุด ซึ่งจะทยอยจัดแสดงไปตลอดทั้งปี ‘Lear & His 3 Daughters’ กำกับฯ โดยจารุนันท์ พันธชาติ ผู้เป็นทั้งผู้กำกับฯ นักแสดง และนักเขียนบทซึ่งฝากผลงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาแล้วมากมายทั้งในวงการละครร่วมสมัยบ้านเราและต่างประเทศในช่วงเวลากว่าทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา ‘Lear & His 3 Daughters’ จัดแสดงด้วยกันทั้งหมด10 รอบการแสดง (26 เมษายน — 7 พฤษภาคม 2555 เว้นวันอังคาร-พุธ) ณ ลานน้ำพุ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ บัตรราคา 450 บาท ทุกที่นั่ง สำรองที่นั่งและซื้อบัตรได้ทางได้ทาง เบอร์ 089-167-4039 และ bfloortheatre@gmail.com) เริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 พิเศษสุดสำหรับท่านที่ซื้อบัตรก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2555 บัตรราคา 390 บาท และ หลังวันที่ 31 มีนาคม 2555 มอบส่วนลด 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับหมู่คณะ 10 คนขึ้นไป รายละเอียดเพิ่มเติม www.bfloortheatre.com เกี่ยวกับ * ’Fright in Sight…สบตาความกลัว’ ในวาระที่บีฟลอร์ (Basement Floor) กลุ่มละครร่วมสมัยชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมีอายุครบ 13 ปี ทำให้เราคิดกันเป็นพิเศษเกี่ยวกับความหมายของเลข ‘13’ ตามคติในหลายวัฒนธรรมตัวเลข ‘13’ ดูเหมือนจะเป็นหมายเลขอาถรรพ์ที่นำความโชคร้ายมาสู่ผู้คนที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เหตุนี้เองที่ทำให้ในลิฟท์ตามตึกต่างๆ ไม่มีปุ่มให้กดขึ้นไปที่ชั้น 13 จะมีก็แต่ชั้น 12A หรือไม่ก็ข้ามไปชั้นที่ 14 เลย...อย่างไรก็ตามบีฟลอร์ฯ พบว่าหมายเลข 13 นั้นมีความหมายโดยนัย ที่ตีความไปสู่ภาวะที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการรับรู้ว่ามีแต่ไม่สามารถเอ่ยถึงมันได้ด้วยความรู้สึกกลัวหรืออะไรบางอย่าง “ที่น่าคิดก็คือภาวะที่เป็นไปในประเทศนี้ ณ พ.ศ. นี้อาจจะพ้องกันอย่างน่าประหลาดกับภาวะของเลข 13 “ แรงบันดาลใจจากตัวเลขอาถรรพ์จุดประกายให้บีฟลอร์สร้างสรรค์การแสดงร่วมสมัย 4 ชุด ชักชวนผู้ชมให้ทำใจหาญกล้าแล้วกดลิฟท์ขึ้นไปยังชั้นที่ 13 ร่วมกับกลุ่มละครชั้นเบสเมนต์อย่างบีฟลอร์เพื่อสบตากับความกลัวแล้วช่วยกันสำรวจว่ามีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่บนนั้นบ้าง ** หลังจาก ‘Lear & His 3 Daughters’ ซึ่งเป็นการแสดงชุดแรกเพื่อเปิดโปรเจ็กต์นี้ คอยพบกับ ‘Oxygen’ ที่เปรียบเสรีภาพเป็นดั่งอากาศเพื่อหายใจ (ได้รับเชิญให้ไปแสดงในเทศกาล Undergroundzero Festival ในนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา) ภายในเดือนกรกฏาคม 2555 ถัดจากนั้นพบกับ ‘บางละเมิด’ การแสดงเดี่ยวโดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ เจ้าของรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพปี 2553 แล้วจบลงด้วยการสบตากับตัวตนภายในของตัวเราเองด้วย (In)sensitivity โดยนักเคลื่อนไหวจิตบำบัดสาวคนแรกและคนเดียวในประเทศไทย เกี่ยวกับผู้กำกับฯ ‘จารุนันท์ พันธชาติ’ เป็นทั้งอาร์ทิสติกไดเร็กเตอร์และผู้ก่อตั้งกลุ่มบีฟลอร์เธียเตอร์มาตั้งแต่ต้น เธอจบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จารุนันท์สร้างสรรค์ผลงานกับกลุ่มบีฟลอร์มาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายทั้งในฐานะผู้กำกับฯ และนักแสดง ทั้งยังได้รับเชิญให้ร่วมแสดงกับกลุ่มละครอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ เวียตนาม เป็นต้น นอกจากนั้น เธอยังเป็นนักเขียนบทที่มีผลงานโดดเด่น และบ่อยครั้งยังเป็นผู้อำนวยการผลิตการแสดง โดยเฉพาะโครงการการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างประเทศ ล่าสุดผลงานกำกับฯ ชิ้นล่าสุดของจารุนันท์เรื่อง “รสแกง” ในเดือนมีนาคม 2554 ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชม จนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ยกย่องให้การแสดงเรื่องนี้เป็น “ละครเวทีไทยฟิวชั่นเรื่องยอดเยี่ยม” เกี่ยวกับกลุ่มละครบีฟลอร์ ‘บีฟลอร์’ คือกลุ่มละครฟิสิคัลเธียเตอร์แนวหน้าของประเทศไทยที่สร้างสรรค์ละครเวทีและการแสดงร่วมสมัยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเน้นภาพบนเวทีที่สื่อความหมายผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงและการใช้สื่อประกอบอื่นๆ ที่ไม่จำกัดรูปแบบ และสอดแทรกประเด็นทางสังคมการเมืองในผลงานอยู่เสมอ ความสำเร็จของกลุ่มบีฟลอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้เดินทางไปสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมต่างชาติมาแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก อียิปต์ อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น การแสดงของกลุ่มบีฟลอร์มักไม่เน้นที่บทพูด แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพบนเวที สื่อสาระและความหมายด้วยการแสดงที่กระทบต่อโสตทัศนสัมผัส ก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษาและวัฒนธรรมทั้งหลาย ทำให้บีฟลอร์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “หนึ่งในกลุ่มละครเวทีอาชีพที่ดีที่สุดในประเทศไทย” โดยหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และบางกอกโพสท์ก็กล่าวว่าผลงานของบีฟลอร์ “เต็มไปด้วยความคิด กระทบใจ และไร้การประนีประนอม” นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ The Scotsman ยังได้กล่าวถึงการแสดงของบีฟลอร์ ไว้ว่า “จงคาดหวังว่าคุณจะประทับใจ ถูกท้าทาย และอาจจะได้รู้แจ้งถึงความจริงบางอย่าง” เมื่อบีฟลอร์เข้าร่วมใน Edinburgh Fringe Festival อันเป็นเทศกาลการแสดงระดับโลกที่จัดขึ้น ณ ประเทศสก็อตแลนด์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ