ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน…บทพิสูจน์ของการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2012 19:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ซีอีโอ อกริฟู้ด ใครหลายคนอาจจะรู้จัก ทิม — พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ดีกรีนักเรียนนอก ที่พลิกฟื้นบริษัทซึ่งติดลบและเป็นหนี้มหาศาลจากการสูญเสียคุณพ่อ ให้กลายเป็นธุรกิจน้ำมันรำข้าวเป็นธุรกิจพันล้านได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือในมาดหนุ่มสังคมหน้าตาดีเป็นที่หมายปองของสาว ๆ แต่คนหนุ่มไฟแรงคนนี้ยังมีดีที่มากไปกว่านั้นโดยเฉพาะมุมมองเรื่องการเรียนที่นำมาสู่การมองโลกอย่างน่าสนใจผ่านปลายปากกาเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารวัยรุ่นชื่อดัง วันนี้ได้ถูกรวบรวมในพ็อคเกตบุคส์ที่ชื่อว่า “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” ซึ่งเป็นการตกผลึกมาจากการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนกว่า 3 ปีในช่วงที่คุณทิมบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท 2 ใบพร้อมกันในด้านการเมืองการปกครอง สาขาภาวะผู้นำ ที่ John F. Kennedy School of Government Harvard University และ ในด้านบริหารธุรกิจที่ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (M.I.T) สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการเปิดตัวหนังสือ“ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” โดยมีผู้บริหารจากอมรินทร์ สุดสัปดาห์ และสปริงบุคส์ รวมทั้งกำลังใจสำคัญจากครอบครัว แฟนสาว และเพื่อนๆร่วมสถาบันในต่างประเทศมาให้กำลังใจคุณทิมแบบอุ่นหนาฝาคั่ง คุณทิมเล่าว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยระดับโลกสองแห่งพร้อมๆกันไม่ใช่เรื่องยาก นั่นเป็นเพราะวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้เรียนสนุก เป็นการอ่าน การเขียน และแลกเปลี่ยนระหว่างกัน วิธีเรียนที่ไม่ใช่มาจากหนังสือเรียนที่มีผู้เขียนมาแล้วนับสิบๆปี แต่เป็นการเรียนรู้จากสิ่งรอบด้านที่เป็นปัจจุบัน ทั้งจากข่าวสารบ้านเมือง สิ่งรอบตัว ผู้คน ร้านค้า กระทั่งข้างถนน แม้แต่การเดินทางท่องเที่ยวก็ช่วยเปิดการมองโลกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดรับสื่อต่างๆทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เนต เวปไซด์และบล็อก สิ่งสำคัญคือการได้ร่วมสัมผัสกับบุคคลสำคัญระดับโลกมากมายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแบ่งปันประสบการณ์ ซึมซับวิธีคิด มาสู่การมองโลกในแง่มุมที่แตกต่าง การเรียนในสถาบันการศึกษาระดับโลกที่มีความแตกต่างของผู้คนกว่า 90 ชาติทั่วโลก เสมือนย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในห้องเรียน เพราะวิชานี้ไม่มีในหนังสือเรียน ถ้าเรียนจากหนังสือหมายถึงการกลับไปหาอดีต แต่ถ้าเรียนจากเพื่อนรอบข้างเป็นการเรียนจากอนาคต ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังมุมมองที่แตกต่าง ไม่ดูแคลนความเห็นที่ขัดแย้ง นำมาสู่ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” คือนิยามของการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะทำให้เราใฝ่ที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ยึดติดและด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง จุดมุ่งหมายของการเรียนที่ฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที ตัวเขาเองอยากสะท้อนให้คนไทยและเยาวชนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเรียนนอกไปเรียนต่างประเทศ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนในระบบที่แตกต่าง นอกจากได้ใบปริญญาบัตรแห่งความสำเร็จแล้ว การนำเอาองค์ความรู้ที่เรียนกลับมาพัฒนาชาติบ้านเมือง ทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ภัทราพร เตชะไพบูลย์ คุณโจน่า เพื่อนร่วมสถาบันเอ็มไอทีบอกว่า หนังสือ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” สะท้อนมุมมองของนักเรียนไทยยามอยู่ไกลบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความภาคภูมิใจของนักเรียนไทยในบอสตันในเรื่องฮาร์วาร์ดสแควร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อปวงชนชาวไทยเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองเคมบริดจ์ อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด และได้มีการตั้งชื่อแยกแห่งหนึ่งในบริเวณฮาร์วาร์ดสแควร์ว่า King Bhumibol Adulyadej Square เพื่อถวายเป็นเกียรติแก่พระองค์ นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆและผู้ที่สนใจอยากจะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศได้ค้นหาตัวเอง เพื่อให้ได้ค้นพบพลังของความคิดนำมาสู่การกระทำที่ยิ่งใหญ่ เห็นด้วยกันผู้เขียนที่ว่าเด็กไทยต้องมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ อย่าไปหลงกับรูปรสกลิ่นเสียงหรือชื่อเสียงเกียรติยศจนลืมความเป็นตัวตนและคุณค่าในตัวเอง ให้เน้น “เนื้อหา” มากกว่า “รูปแบบ” เน้น “สาร” มากกว่า “หีบห่อ” ปฏิวัติ ปานุราช หรือคุณสูง รุ่นพี่เอ็มไอทีมาให้กำลังใจคุณทิม บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกคือหัวจิตหัวใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น เรื่องภาษาไม่ดี ฝึกฝนฝึกปรือได้ เรื่องเงินมีไม่มาก สามารถไปขอทุนการศึกษาได้ อย่าคิดแค่ว่าไปเรียนจบกลับมาได้ขึ้นชื่อว่านักเรียนนอกได้เงินเดือนสูงๆ อยากให้ค้นหาตัวเองและจุดมุ่งหมายในชีวิตว่าต้องการเป็นอะไร ทำอะไร มีเป้าหมายในชีวิตก่อนและทำอย่างเต็มที่ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือต้องอดทนและมีวินัย อนุลักษณ์ ซาเสียง บรรณาธิการสำนักพิมพ์สปริงบุคส์ สำนักพิมพ์ที่เน้นความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่ แนวคิดใหม่ๆ ซึ่งเขามองว่าสำหรับคนทั่วไปแล้ว การที่จะสอบเข้าเรียนฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที สองมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้พร้อมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งไปกว่านั้นคือใบปริญญาที่บ่งบอกความสำเร็จจากทั้งสองสถาบันการศึกษาของโลก สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับนอกจากความสนุกสนาน การสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนไทยในต่างแดนแล้ว สิ่งสำคัญคือการหล่อหลอมวิธีการคิด การพูด การสื่อสาร มาสู่การกระทำ จนทำให้กลายเป็นคนเก่ง แต่ความเก่งเป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จ ทว่าสิ่งที่จะทำให้เราไปไกลกว่านั้นคือการไม่หยุดเรียนรู้ ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมรับประสบการณ์ใหม่ๆทั้งจากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่เข้ามาในชีวิตได้ตลอดเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ