ปฏิรูปยุติธรรมแรงงานเสนอออกข้อกำหนดศาลแรงงานพิจารณาคดีพิเศษ

ข่าวทั่วไป Monday April 23, 2012 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 เมษายน เครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กลุ่มสหภาพแรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านปู่เจ้าสมิงพราย กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานต่อนางสุนี ไชยรส ประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมและนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษากรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ทั้งนี้เครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานได้เข้าหารือกับคปก.เพื่อชี้แจงประเด็นปัญหาในระบบและกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีแรงงานมีความเหมาะสมหรือมีความเป็นธรรมหรือไม่ ขณะที่ระบบการพิจารณาคดีแรงงาน พบปัญหาทั้งเรื่องเวลาการพิจารณาคดีที่ล่าช้า เนื่องจากมีพยานเป็นจำนวนมาก รวมถึงภาระการพิสูจน์บางอย่างยังพิสูจน์ได้ยากซึ่งศาลไม่ใช้ระบบไต่สวน จึงมีข้อเสนอจากเครือข่ายฯให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานให้มีหลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเนื่องจากเรื่องนายจ้างไม่ใช่เรื่องทางแพ่งแต่เป็นเรื่องของการผลิตและความมั่นคงของมนุษย์และสังคม การดำเนินการในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงานควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองลูกจ้างที่จัดตั้ง รวมตัวหรือเป็นกรรมการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือลูกจ้างที่เข้าร่วมในองค์กรหรือการเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมาย เครือข่ายฯมีข้อเสนอว่าควรออกข้อกำหนดศาลแรงงานในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะพิเศษ เช่นคดีแรงงานที่เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติร้ายแรงงาน คดีแรงงานที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือการได้รับสารเคมีจากการทำงาน ขณะเดียวกันควรออกข้อกำหนดศาลแรงงานเกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลฎีกา เช่น ในแต่ละชั้นไม่ควรเกิน 1 ปี เว้นแต่คดีมีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้มีกรอบเวลาการพิจารณาคดีที่เหมาะสมเป็นธรรม ประกอบกับการพัฒนาแรงงานให้เป็นศาลทีมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการพิเศษ อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีหลายมาตราในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ที่ให้อำนาจศาลแรงงานแต่ในทางปฏิบัติมักจะไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นดุลพินิจของศาล ไม่ใช่บทบังคับศาลประเด็นปัญหานี้จึงควรจะมีมาตรการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นหน้าที่หลักของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีแรงงาน ล่าสุด คปก.ได้รับข้อเสนอดังกล่าว โดยจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ในวันที่ 24 เมษายนนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ