ประเทศไทยจับมือองค์การนาซ่า ผลักดันเด็กไทยสู่มาตรฐานงานวิจัยสิ่งแวดล้อมนานาชาติผ่านโครงการ GLOBE

ข่าวทั่วไป Tuesday April 24, 2012 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--สสวท. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นปัญหาที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ประเทศไทยเข้าร่วมกับโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนานาชาติGLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้นักเรียนทั่วโลกทำงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ(Earth System Science: ESS) โดยการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบุแนวโน้มรูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูล เข้าใจแบบจำลอง และทำนายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกได้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาและการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการ GLOBE ยังมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้และแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนสามารถอธิบายและตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบที่ผ่านมา เช่น การฝึกเด็กนักเรียนออกไปสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อฝึกการสังเกต ตั้งคำถามเพื่อนำมาสู่กระบวนการวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านี้ และมีการจัดทำหลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Dr. Dixon Matlock Butler อดีตผู้บริหารใหญ่ โครงการGLOBE และนักวิทยาศาสตร์องค์การ NASA ซึ่งกล่าวว่าสิ่งสำคัญในการทำวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ สิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนในการฝึกฝนคือ การเก็บข้อมูล การอ่านข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์และตีความข้อมูล เพราะการวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบนั้น เรากำลังวิจัยโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ “ การที่โครงการ GLOBE ให้ความสำคัญในการฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ เพราะ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเราควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก การที่โครงการ GLOBE ทำงานกับเด็ก เพราะต้องการให้เด็กสามารถพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเด็กทุกคนสามารถตรวจวัดได้ เด็กได้ฝึกการสังเกต การวิเคราะห์ ทำการทดลอง และเห็นผลการทดลองด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปตลอดเมื่อโตขึ้น” Mr. Bryan (Rick) Switzer ผู้อำนวยการใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพ ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก สถานทูตสหรัฐอเมริกา องค์กรที่ให้การสนับสนุนต่อโครงการนี้ แสดงความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทุกฝ่ายและรัฐบาลทุกประเทศที่จะร่วมมือกัน โครงการ GLOBE เป็นโครงการความร่วมมือ โดยมีการสอนเด็กๆให้ศึกษา และสังเกตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของโลกใบนี้ และ ปัญหานี้เป็นปัญหาของทุกคน “โครงการ GLOBE เป็นความร่วมมือกันในการสร้างพฤติกรรมที่จะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เรากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ให้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ผมอยากเห็นประเทศไทยในฐานะผู้นำในการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษากับประชาชน และนักเรียน สิ่งที่สำคัญคือ การเป็นผู้นำของประเทศไทยในแถบเอเชียด้วย” ด้าน Dr.Teresa J. Kennedy ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ โครงการ GLOBE ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การดำเนินการของโครงการ GLOBE ในประเทศเอเชียแปซิฟิค จำนวน 16 ประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์มากที่สุด เพราะได้ลงมือทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง และกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นมาเรียนรู้กิจกรรมตามโครงการ GLOBE ได้ เพราะมีการนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในทุกด้าน มีเครือข่ายกิจกรรม GLOBE ได้กว้างขวางทั่วประเทศ “ปีนี้โครงการ GLOBE มีอายุ 17 ปี จากการตรวจวัดสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆจากทั่วโลกที่ส่งมา มีจำนวน 23 ล้านข้อมูล เฉพาะประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก มีจำนวนเกือบ 2 ล้านข้อมูล และในภูมิภาคนี้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ส่งข้อมูลการตรวจวัดให้มากที่สุด จึงทำให้เห็นว่า โครงการ GLOBE ประสบความสำเร็จ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ