“จงจิต ไชยวงศ์” ครูผู้สร้างโอกาสแก่ “เด็กพิการซ้อน” เพราะ “รอยยิ้มของเด็ก” คือเป้าหมายเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

ข่าวทั่วไป Tuesday April 24, 2012 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์ ความสำเร็จของการเป็น “ครู” สำหรับบางคนอาจจะวัดกันที่ผลการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือผลการประกวดแข่งขันต่างๆ ที่คว้ารางวัลในระดับประเทศของลูกศิษย์ แต่สำหรับ “ครู” บางคนเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจดูเล็กมากในสายตาของคนอื่นๆ เพราะคาดหวังให้เพียงแค่ “การเข้าห้องน้ำ-เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยตัวเองได้” แต่เป้าหมายเล็กๆ แบบนี้กลับเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำได้ยากสำหรับ “เด็กด้อยโอกาส” อีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่ “ความพิการซ้อน” ได้บั่นทอนโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาการจนทำให้เขาเป็น “เด็กพิเศษ” ที่ต้องรับการดูแลอย่างใกล้ชิด “จงจิต ไชยวงศ์” หรือ “ครูต้อย” จาก ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าที่ครูผู้ได้รับทุน “ครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เล่าให้ฟังว่า ศูนย์ฯแห่งนี้มีหน้าที่เตรียมความพร้อมเด็กพิการทุกประเภทและกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาความพิการซ้อน ที่มีความบกพร่องทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก “เด็กที่มาจะได้รับกระตุ้นพัฒนาการ 5 ทักษะอาทิ กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เรื่องของภาษาการพูด การช่วยเหลือตนเอง แล้วก็วิชาการซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ง่ายๆ สำหรับเด็ก ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องในด้านร่างกายก็จะได้รับการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัด” ครูต้อยกล่าว โดยทุกวันอังคารและวันพุธ ทางศูนย์การศึกษาพิเศษฯ จะจัดรถออกไปรับผู้ปกครองและเด็กจากชุมชนต่างๆ รอบๆ พื้นที่ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเท่าที่ระยะทางและเวลาจะอำนวย เพื่อมารับการฝึกกระตุ้นฟื้นฟูพัฒนาการ เพราะผู้ปกครองของเด็กพิเศษส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อีกทั้งสภาพพื้นที่เป็นดอยสูงการเดินทางยากลำบาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะพาลูกหลานลงมารับบริการในตัวเมือง จึงทำให้มีเด็กอีกหลายคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการกระตุ้นฟื้นฟูพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ “เด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นถึงแม้เขาจะเป็นเด็กที่มีความบกพร่องในแต่ละประเภท เราก็ควรที่จะให้โอกาสกับเด็กของเราเพื่อให้เขาได้รับการพัฒนาได้เท่าเทียมกับเด็กปกติ” ครูต้อยระบุ จากแนวคิดดังกล่าวได้ทำให้ช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 วันของสัปดาห์ ทีมงานคณะครูของศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ทุกระดับจึงจัดแบ่งสายกระจายกันเดินทางออกไปยังชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ เพื่อดูแลและฟื้นฟูเด็กที่อยู่ห่างไกลบนดอยสูง โดยต้องไปกินนอนตามป่าเขา อาศัยค้างแรมตามบ้านของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อที่จะติดตามดูแลพัฒนาการของเด็กที่เคยมารับบริการ หรือค้นหาเด็กพิเศษรายใหม่ จนแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีหมู่บ้านไหนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่คณะครูของศูนย์ฯ แห่งนี้ไม่เคยไปถึง นางใหม่ ชาวไทยภูเขาเผ่าไทใหญ่ จากบ้านห้วยเดื่อ คุณแม่ของ เด็กชายสมคิด หรือ “น้องวัตร” วัย 5 ขวบเล่าให้ฟังว่า รู้จักศูนย์แห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งที่คณะครูได้ออกไปค้นหาเด็กในพื้นที่แล้วก็ชักชวนให้มารับการพื้นฟูพัฒนาการ โดยจัดรถไปรับถึงที่บ้านเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันถึง 4 ปี “ครั้งแรกที่พาน้องมารับบริการจะมีอาการเกร็ง นั่งไม่ได้ ชันคอไม่ได้ ตัวอ่อนไปหมด แต่พอได้รับการฟื้นฟูต่างๆ อย่างต่อเนื่องทำให้ทุกวันนี้น้องวัตรสามารถนั่งได้ ชันคอได้ คว่ำได้ สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ด้วยสายตาและท่าทาง เมื่อเทียบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้วอาการของน้องก็ดีขึ้นมาก โดยความคาดหวังก็คืออยากให้น้องสามารถเดินได้” นางใหม่กล่าว นางสาวอรุณี เกิดชัยมงคล คุณแม่ของ เด็กหญิงพิชา หรือ “น้องเจินเจิน” และ เด็กหญิงพณิชา หรือ “น้องหมู” เด็กพิเศษวัย 6 และ 3 ขวบตามลำดับ ที่พาลูกๆ ทั้ง 2 คนมารับการฟื้นฟูพัฒนาการที่ศูนย์เป็นประจำทุกวันเล่าให้ฟังว่า หลังจากมารับการฟื้นฟูลูกสาวทั้งสองคนก็มีพัฒนาการต่างๆ ที่ดีขึ้นมากสามารถเข้าสังคม ออกไปเล่น หรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ได้ “คุณครูทุกคนที่ศูนย์จะพูดจากับเด็กๆ ดีมาก มีวิธีการพูดโน้มน้าวจิตใจเด็กๆ สนใจเด็กทุกคน และห่วงใยผู้ปกครองคอยซักถามสารทุกข์สุขดิบ ติดตามถามความคืบหน้าของลูกเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน เด็กทุกคนก็จะจำครูได้ ตอนนี้น้องเจินเจินมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากและกำลังจะส่งไปเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ส่วนน้องหมูก็เริ่มซนน้อยลงและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ได้” น.ส.อรุณี กล่าว ด้านเพื่อนร่วมงานอย่าง นางสาวอรอนงค์ สะเลโพ หรือ “ครูอร” เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานกับ “ครูต้อย” ตลอดระยะที่ผ่านมาว่า ครูต้อยเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ความตั้งใจในการทำงาน ทุ่มเท มุ่งมั่นทำงานเพื่อเด็กพิการมาโดยตลอด เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ เพราะไม่ว่าเวลาไหนทั้งในและนอกราชการหากมีงานครูต้อยก็ไม่เคยเกี่ยง “ทำงานด้วยกันมาไม่เคยได้ยินว่าท้อหรืออยากทำงานอย่างอื่นๆ โดยจุดเด่นของครูต้อยในการทำงานกับเด็กก็คือ มีความรักในงาน มีความเป็นครู ทุ่มเทเอาใจใส่เด็ก เวลาเด็กมารับบริการก็จะสอนและดูแลเต็มที่ เวลาที่เหลือก็ออกไปเยี่ยมบ้านตลอด และคอยประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กตลอด และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับตัวของเราเพราะพี่เขายังทุ่มเททำได้ขนาดนี้แล้วทำไมเราจะไม่ทำ” ครูอรกล่าว สำหรับเด็กปกติความหวังหรือเป้าหมายของครูอาจจะอยู่ที่ลูกศิษย์ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงหรือในสถาบันที่ดี มีงานการที่มั่นคงหรือเป็นคนดีในสังคม แต่สำหรับเด็กพิเศษของ “ครูต้อย” แล้วนั้น ความคาดหวังของครูกับลูกศิษย์กลุ่มนี้ก็คงมีเพียง อยากให้เด็กเหล่านี้สามารถที่จะดำรงชีวิตตัวเองอยู่ในสังคม ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ “อย่างน้อยให้เขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหาร การแต่งตัวใส่เสื้อผ้า การอาบน้ำ แม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำ หากเขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้นั่นคือนี่คือสิ่งที่เราคาดหวังสูงสุด เพราะความสุขของเราก็คือการที่ได้เห็นเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสิ่งที่เป็นรางวัลให้กับครูทุกคนมากที่สุดก็คือ รอยยิ้มของผู้ปกครอง และรอยยิ้มของเด็กที่มีให้กับเรา นั่นคือสิ่งที่เป็นกำลังใจในการทำงานกับเด็กพิเศษเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเดินทาง ภาษา หรือแม้แต่อะไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้คือแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับเด็กพิการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป” ครูต้อยกล่าว เป็นเป้าหมายเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของ “ครู” ผู้อุทิศตนเพื่อเด็กพิการ ที่ไม่ต้องการรางวัลใดๆ ที่มากไปกว่า...รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ