กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
“เผยสถิติน่าเป็นห่วงประเทศไทยสูญเงินกว่าพันล้านบาทต่อปีเป็นค่ารักษาพยาบาลจากสุนัขกัด” TSPCA พร้อมด้วยล้านนาด็อกเวลแฟร์ และองค์กรปกครองท้องถิ่น ตระหนักถึงปัญหา จับมือโรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่ และ สวทช ภาคเหนือ เดินหน้าผลักดัน “ยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” เน้นกลุ่มเสี่ยงสุนัขจรจัด และสุนัขชุมชน เปิด 7 พื้นที่นำร่องทั่วเชียงใหม่
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมกับล้านนาด็อกเวลแฟร์ และ องค์กรการปกครองท้องถิ่นนครเชียงใหม่ จัดสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อสร้างองค์ความรู้ และความเข้าใจให้แก่ผู้นำท้องถิ่นเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล 7 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตามมาตรฐาน OIE และ WHO และขยายความร่วมมือกับ National Institute of Infectious Diseases ประเทศญี่ปุ่นในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และการจัดการที่ทำให้ประเทศปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะดำเนินการโครงการนำร่องกับองค์กรท้องถิ่น 7 พื้นที่ให้เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดต่างๆ โดยการจัดสัมมนาเพื่อสร้างศักยภาพผู้ร่วมโครงการฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 26 -27 เมษายนนี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ลานนาด๊อก จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิไลวรรณ เพชรโสภณสกุล ผู้ก่อตั้งล้านนาด็อกเวลแฟร์ กล่าวว่า “การจัดสัมมนาครั้งนี้ สมาคมฯ และหน่วยงานที่เข้าร่วม ได้เล็งเห็นว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนซึ่งมีความสำคัญยิ่งไม่น้อยไปกว่าโรคไข้หวัดนก แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะมีมากว่า 100 ปีมาแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้ากลับไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้ถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 500, 000 คนต่อปี ยังมีการสูญเสียชีวิตและงบประมาณไปในการฉีดวัคซีน และค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ถูกสุนัขกัด ปีละกว่าพันล้านบาท”
นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การกำจัดสุนัขจรจัดไม่ว่าจะโดยการใช้ยาเบื่อ ฆ่าทิ้ง จับส่งตลาดเนื้อสุนัข ได้มีการพิสูจน์ในหลายประเทศแล้วว่าไม่สามารถควบคุมสุขอนามัยแวดล้อมหรือป้องกันการแพร่โรคจากสัตว์สู่คนได้โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า และยังเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามจากนานาชาติ แนวคิดการลงทุนสร้างบ้านพักพิงให้กับสุนัขในหลายจังหวัดก็เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย เนื่องจากเป็นงบประมาณที่สูญเปล่าไปกับการเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการทารุณสัตว์อีกด้วย”
ด้านนายมกริน พรหมโยธี ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่ หนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า “ในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ เมืองแห่งวัดและวัฒนธรรมกว่า 700 ปี จัดเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของประเทศไทย และสมัครเข้าเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ภาพของสุนัขเจ็บป่วยไร้ซึ่งสวัสดิภาพสัตว์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตั้งข้อรังเกียจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว”
ด้วยเหตุนี้องค์กรเกี่ยวกับสัตว์ล้านนาด็อกเวลแฟร์ สำนักงานปศุสัตว์เชียงใหม่ องค์กรปกครองท้องถิ่น คณะสัตวแพทย์ สมาคมป้องกันทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรต่างประเทศเช่น WSPA และ RSPCA ได้มีความร่วมมือกันอย่างดีในการแก้ปัญหาสุนัขในจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 จนเกิดเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าแบบเชียงใหม่โมเดลมาจนถึงปัจจุบัน จนต่อมาในปีที่แล้วคณะผู้เชี่ยวชาญจาก National Institute of Infectious disease ของประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจะใช้ต้นแบบของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้ามากว่าครึ่งศตวรรษมาปรับใช้เป็น “โครงการนำร่องแบบครบวงจร” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างแท้จริง โดยจะดำเนินการในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเชียงใหม่ 7 แห่ง คือ
1. เทศบาลตำบลแม่เหียะ
2. เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง
3. เทศบาลตำบลหนองหนองหอย
4. องค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง
5. องค์การบริหารส่วนตำบลสบเตี๊ยะ
6. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจ๊อม
7. องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย
“การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณการศาสตร์ความรู้ใหม่ๆเข้าด้วยกันระหว่างสถาบันการศึกษาคือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรภาคเอกชน ไปจนถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยจะเชิญทุกภาคส่วนทั้งในระดับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบ (Stakeholder) ร่วมสัมมนาวิชาการ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์อันหนึ่งในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์ และท้ายที่สุดมุ่งเข้าสู่โรคพิษสุนัขบ้าซึ่งยังเป็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา” ดร. วิไลวรรณ กล่าวสรุป